UNC Talk 3 : คุณค่าของโครงการ UNC โดยอาจารย์ นักศึกษา และภาคประชาสังคมปี 5
นาถชิดา อินทร์สอาด

ช่วงเสวนา UNC Talk 3 : โดย
คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร

อาจารย์ได้แก่ ผศ.พรพรรณ เชยจิตร และอาจารย์สุภาพร หนูก้าน
นักศึกษาได้แก่ นายอาณกร ตันสุริวงศ์ และนายณภัทร เกษโกมล

ภาคประชาสังคมได้แก่ คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์ จากเพจ Toolmorrow

การแสดงนิทรรศการนักศึกษา ครั้งที่ 4 “UNC The Exhibition 2018”

โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 5 (ปี2561)

วันที่ 28 ตุลาคม 2561


บันทึกในเวที

พิธีกร : ขอถามอาจารย์ว่ารู้สึกอย่างไร ที่เข้าร่วมโครงการนี้ ร่วมมากี่ปี

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เข้าร่วมมา 5 ปีแล้ว เข้าร่วมตั้งแต่โครงการยังหาวิธีการของการเป็น UNC ที่เราอยากได้ เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมได้ประโยชน์จากโครงการนี้มากที่สุด

พิธีกร : แล้วพอได้มาเข้าร่วมรู้สึกอย่างไรบ้าง

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เสน่ห์ของโครงการนี้ คือการได้ทำงานกับโจทย์จริงๆ นักศึกษาได้สัมผัสกับโจทย์ที่มีชีวิต กับผู้คนที่ประสบปัญหาต่างๆด้านสังคม เขาก็จะได้คิดค้นหาวิธีและนำความรู้ที่เขามีมาแก้ไข และพัฒนาปัญหา

ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: ดูแลสาขานิเทศศาสตร์ เห็นทางอาจารย์สาวเข้าร่วมโครงการ จนปีที่ 4 ก็มาเข้าร่วม เริ่มเข้ามาช่วยจนกระทั่งปีที่แล้ว ก็ได้ถามนักศึกษาว่าเขาอยากทำไหม แล้วก็เป็นเรื่องที่ดีที่นักศึกษาอยากทำ แล้วพาเขาเข้ามาร่วมอย่างจริงจังในช่วงรอบที่แล้วเป็นต้นมา และปีหน้าก็จะมีเด็กรุ่นใหม่ๆ เข้าร่วมอีก

พิธีกร: น้องๆ รู้สึกอย่างไรบ้างที่มาเข้าร่วมโครงการ

นายณภัทร เกษโกมล: ผมรู้สึกดีใจที่ได้มาทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะจากที่เราเรียนมา เราอยากจะทำอะไรเพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่เราเรียนมาสามารถทำงานได้จริง พอได้ร่วมโครงการก็รู้สึกว่ามันได้ผลจริงๆ เกิดผลกระทบต่อผู้คนจริงๆ

พิธีกร: รู้สึกเหนื่อยไหม

นายณภัทร เกษโกมล: เนื่องจากไม่ใช่วิชาในหลักสูตร เป็นเหมือนงานอาสา ก็รู้สึกว่าจะค่อนข้างเหนื่อย แต่ก็คุ้มและยาก ต้องแบ่งเวลาจากการเรียนด้วย

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: เป็นปีแรกที่สาขาได้เข้าร่วมในโครงการนี้ ก็รู้สึกตื่นเต้น และเพื่อนๆ หลายๆ คนที่มาร่วมก็ตื่นเต้น ไม่เคยได้เห็นงานของรุ่นพี่ เราต้องเริ่มทุกอย่างใหม่หมด เพื่อให้ตรงกับโจทย์ที่ UNC ให้มา แล้วก็ต้องตรงกับสิ่งที่เราเรียนอยู่

พิธีกร: โจทย์ของ UNC ยากสำหรับเราไหม

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: คิดว่าไม่ยาก ทุกโจทย์ที่ UNC ตั้งไว้มันคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเราหรืออยู่ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยที่เราเจอในทุกวัน

พิธีกร : ได้ทำผลงานอะไรมาจัดในนิทรรศการครั้งนี้

นายณภัทร เกษโกมล: คณะของผมได้โจทย์สื่อสร้างสรรค์ ก็ตรงกับคณะของเราคือคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตรงกับที่เราเรียนมา ผมเรียนออกแบบ เอนิเมชั่น และเกม ก็จะนำสามอย่างมารวมกัน ทำเป็น VR ชื่อผลงานว่า “แชร์ร้าว” คำว่าแชร์ ก็คือการที่เราแชร์ ส่วน ร้าว ก็คือแล้ว เป็นศัพท์ของวัยรุ่น เป็นการสะท้อนสังคมในเรื่องของการแชร์

พิธีกร : แล้วของอีกคนทำอะไร

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: ชื่อผลงาน INFLUFAILURE (Influencer- failure) คือปัญหามันเกิดจากการที่ปัจจุบันเรามี Influencer เยอะมาก ใครที่มีกล้อง มีอินเตอร์เน็ต ก็มาเป็น Influencer ได้ แล้วก็จะมีทั้งดีและไม่ดีที่สามารถครอบนำความคิดของคนที่แชร์สิ่งแปลกๆ ก็เลยเอาคำมาบวกกันระหว่าง Influencer- failure คือเป็นผู้นำทางความคิดที่ล้มเหลว

พิธีกร: ได้มาเดินชมผลงานนิทรรศการของน้องๆ แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: มีอะไรน่าสนใจหลายชิ้นงาน จริงๆ ผมเคยไปให้คอมเม้นต์งานมาแล้ว จริงๆ งานนี้ทำให้ผมรู้สึกนึกถึงสมัยเราเป็นวัยรุ่น เป็นยุคของการเวิร์คช็อปค่ายสถาปัตยกรรม พอเรามาอยู่ในวงการสื่อ เรารู้สึกดีใจว่ามีงานแบบนี้ที่ช่วยเหลือสังคม ที่ทำสื่อดีๆเพื่อสังคม ในปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย หลายๆ ครั้งคนเสพสื่อไม่มีวิจารณญาณหรือเสพสื่ออย่างคึกคะนอง ก็อาจจะเกิดปัญหาได้ หลายๆ คนก็หยิบประเด็นเหล่านั้นมาให้ทุกคนได้ฉุกคิด ก็คิดว่ามันดีมากและชื่นชม

พิธีกร: อยากจะแชร์มุมมองอะไรให้กับน้องๆ สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: โลกออนไลน์มีคนที่พร้อมจะโต้ตอบเราเสมอ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญคือตรรกะ (Logic) ตรรกะเราต้องแน่น เหตุผลเราต้องแน่น เราทำงานออนไลน์มาเป็นร้อยๆ คลิป แล้วเกิดการโต้กลับเยอะแยะมากมาย แล้วเราค้นพบว่าสิ่งที่ทำให้เราพลาดคือการทำการบ้านน้อย เราเอาความคิดของเราไปใส่มากเกินไป โดยไม่มีข้อมูลจริง ถ้าคุณอินกับปัญหาจริง ต้องเอาตัวตนออกไปก่อน และพยายามรับฟังปัญหาจริงๆ คุณจะค้นพบอะไรบางอย่าง แต่งานช่วยสังคมไม่ใช่งานเพื่อเอาเท่ห์ ไม่ใช่แค่เอาภาพสวย มันมีมากกว่านั้น ถ้าเกิดคุณทำถึงระดับที่ทำให้ตระหนักรู้ สร้างแรงกระเพื่อมหรือทำให้สังคมได้ประโยชน์ วันหนึ่งคุณจะรู้สึกว่าเราอิ่มทิพย์ ความสุขจากการให้มันมีความสุขแบบนี้นี่เอง ขอเอาใจช่วยน้องๆทุกคน

พิธีกร: เรารู้สึกยังไงที่พี่เขาให้คำแนะนำดีๆกับเรา

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: รู้สึกว่าคำแนะนำที่พี่ให้ สามารถไปต่อยอดได้ในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่แค่ในงานนี้ เช่นเรื่องของการใช้ตรรกะ เห็นด้วยกับที่คุณสุรเสกข์พูด เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดอะไรก็ได้ ทำอะไรก็ได้ในโลกออนไลน์ ซึ่งแค่จะไม่ใช่ในโลกออนไลน์ แต่มนุษย์เราควรที่จะมีตรรกะตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นในโลกออนไลน์หรือในชีวิตประจำวัน

พิธีกร: แล้วอาจารย์มีมุมมองอย่างไรบ้างในการทำสื่อ

ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เห็นด้วยจริงๆ ในเรื่องของการสื่อสารในปัจจุบัน ถามว่าทุกวันนี้เหมือนเราพูดกัน เราไม่ค่อยเข้าใจ เพราะว่ามีแต่คนอยากจะพูด โดยที่ไม่ได้สนใจจะฟังหรือคิดให้มันลึกซึ้งจริงๆ ว่าสิ่งที่คนอื่นพูดเขาต้องการสื่อสารอะไร แล้วเราอยากจะพูด เราควรจะพูดอะไรหรือแม้กระทั่งการแชร์ มันควรต้องคิดหรือฟังให้หลายๆทาง คิดอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะสื่อสารออกไป เป็นสิ่งที่อยากให้เด็กรุ่นใหม่คิดเยอะๆ

พิธีกร : ตอนนี้สังคมก้มหน้าหมดเลย วิธีการเสพข่าวทุกคนจะมุ่งเน้นแต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น

ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เป็นสังคมก้มหน้าและทุกคนคิดเห็นแต่ตัวเอง ไม่ได้มองในมิติอื่นๆ ที่มันรอบด้าน ก่อนที่จะตัดสินใจที่จะเชื่อจะแชร์หรือจะสื่อสารอะไรเพิ่มเติมลงไปอีก

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: การทำงานกับเด็กๆ เกี่ยวกับเรื่องการแชร์ เราจะเริ่มจะให้เขาเอาประสบการณ์ตัวเองกับการใช้โซเชียลมีเดียมารวมกัน พอมันได้ความคิดหรือสิ่งที่เขาประสบมา เราก็จะถามว่าคุณจะเอาประสบการณ์ส่วนตัวมาทำสื่อ แล้วปล่อยออกไป ผลตอบรับที่ออกมาจะยอมรับได้หรือไม่ เพราะจะมีทั้งด้านบวกและด้านลบ จากคำถามทำให้เด็กกรองสิ่งที่เขาจะสื่อออกไปให้มันดีขึ้น สุดท้ายแล้วการทำงานกับนักศึกษาคือต้องยอมรับ Feedback ที่กลับมาให้ได้

พิธีกร: มีอะไรจะฝากถึงเด็ก

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: จริงๆ ผลงานออกมาไม่ดีก็เป็นเรื่องธรรมดา บางงานเรามั่นใจว่ามันจะประสบความสำเร็จ แล้วมันไม่ประสบความสำเร็จก็มีเหมือนกัน สิ่งที่อยากจะบอกก็คือเก็บ Feedback รวบรวมว่าผิดพลาดตรงไหน ทำไมถึงไม่สำเร็จ พยายามเรียนรู้และค่อยๆ มาทำงานชิ้นต่อไป ความผิดหวังเป็นทุกข์ของเราอย่างหนึ่ง มันมีทางให้เราเรียนรู้ เข้มแข็งและเติบโต ถ้าเราชนะอย่างเดียวก็จะไม่สนุก และอีกเรื่องหนึ่งหลายๆ ครั้งที่เรามีจุดประสงค์ดี แต่ด้วยเวลานั้นอาจจะยังไม่เหมาะสมในตัวเนื้อหาบางอย่าง อาจจะขาดความเชื่อกับคนในสังคม แต่ถ้าเรายืนยันว่ามันดี เราหนักแน่นว่าวันหนึ่งเราได้ทำงานชิ้นหนึ่งที่ต้องพูดเรื่องความถูกต้องอะไรบางอย่าง เราก็อย่าไปกลัว ถ้าอยากเป็นสื่อที่สร้างสรรค์ ก็ต้องมีวิธีการพูดบางอย่างที่เราไม่เจ็บตัว แต่อย่าเลือกที่จะไม่พูด 

พิธีกร: น้องๆ คิดว่าสิ่งที่เราทำตอบโจทย์อะไรกับสังคมได้บ้าง

นายณภัทร เกษโกมล: ตอบโจทย์ในสังคม คือสุดท้ายแล้วการที่เราไปแชร์คำพูดอะไร เราอาจจะคิดว่ามันธรรมดา เราไม่ได้คิดอะไร แต่สำหรับคนส่วนใหญ่แล้วคำนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อจิตใจเขา งานเราก็จะโชว์ให้ดู โดยที่เรายังไม่ตัดสินใจก่อน

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: วิธีทำงานของเราคือการสร้างสอง Account ขึ้นมา ให้ Account หนึ่งพูดแต่สิ่งดีๆ ส่วนอีกอันหนึ่งให้ต่อต้านกระแสสังคม ผลที่ออกมาคือ Account ดีๆ มีretwitter อยู่สองretwitter ส่วน Account ที่ปั่นเก่งๆ มีตั้ง 5,000 retwitter หลังจากผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้ว เอามาสรุป เรารู้สึกว่าสิ่งนี้ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราจะสื่อสาร ว่าอยากให้เขาคิดนะ ว่าไม่ใช่แค่การกด Follow ใครสักคน เราจะเชื่อความคิดเขาไปได้ตลอด ไม่ว่าสารจะออกมาจากใครก็ตาม เราควรที่จะคิดพิจารณาก่อนที่จะไปเชื่อเขา

พิธีกร: สิ่งที่เราทำในครั้งนี้มีประโยชน์อะไรกับเราบ้าง สามารถไปต่อยอดหรือใช้ในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: ประโยชน์อย่างแรกเลยที่ทุกๆ มหาวิทยาลัยได้รับก็คือความคิดสร้างสรรค์ได้ทำงานร่วมกัน เราได้เจอเพื่อนมหาวิทยาลัยต่างๆ ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็คือเราอยู่กับงานนี้ ก่อนที่เราจะสร้าง คอนเทนท์อะไร เราก็ต้องคิดว่าเราจะสามารถปล่อยสื่อออกไปได้จริงๆ หรือเปล่า ตลอดการทำงานที่ผ่านมาเราใช้วิธีคิดแบบนั้น มันจะอยู่กับตัวเราตลอด อย่างน้อยเราได้วิธีคิดก่อนทำเสมอ

นายณภัทร เกษโกมล: เราทำร่วมกัน 3 สาขาก็จะมีกระบวนการทำงานที่แปลกใหม่ เราก็จะเข้าใจภาษากันมากขึ้นเมื่อได้ทำงานร่วมกัน หลังจากเราทำงานเราได้หาข้อมูลมาถกเถียงและพูดคุยกัน

พิธีกร: สิ่งที่โครงการได้จัดทำขึ้นมา คือเปิดโอกาสให้สถาบันทุกสถาบันได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมและเปิดให้น้องๆ คณะอื่นๆ ได้มาเข้าร่วม อาจารย์มีความรู้สึกอย่างไรที่เขาเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: เสน่ห์ของโครงการ UNC คือเป็นโครงการที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ออกแบบ มีมหาวิทยาลัยใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาทุกครั้งที่เรามาเจอกัน เราจะรู้สึกสนุก เราไม่มีการแข่งขัน อาจารย์ได้รู้จักกัน มีเครือข่ายกันมากขึ้น นักศึกษาเองก็ได้รู้จักกันและได้เห็นการทำงานของมหาวิทยาลัยอื่น ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างใหญ่ในสายด้านการออกแบบ

พิธีกร: ได้ไปปรับในการเรียนการสอนอย่างไรบ้าง

ผศ.พรพรรณ เชยจิตร: เราใช้วิธีการเป็นอาสาสมัครเข้ามาทำ ยังไม่ได้เข้าสู่รายวิชา แต่อย่างไรก็ตามเราจะบอกโจทย์กับนักศึกษาไปว่าเขาต้องทำอะไร ที่สามารถจะทำด้วยวิชาความรู้ที่เขาได้เรียนในศาสตร์ต่างๆ มาช่วยในจุดนี้ เพราะฉะนั้นก็เหมือนกับนักศึกษาได้เรียนไปอีกหนึ่งวิชา ที่เป็นวิชานอกห้องเรียน ซึ่งนักศึกษาก็พูดเองว่าได้ความรู้ที่กว้างมากขึ้นและไปข้างหน้ากว่าที่จะอยู่แค่ในชั้นเรียน

พิธีกร: พออาจารย์ให้โจทย์มาแล้ว มันมีความยากง่ายอย่างไรบ้าง ถึงทำให้เราสามารถสร้างสรรค์สื่อออกมาให้คนได้รับรู้ดีขนาดนี้

นายอาณกร ตันสุริวงศ์: เป็นสิ่งที่เราไม่เคยได้เรียนรู้ อาจจะไม่ได้มาง่ายๆ กับความรู้แบบนี้ ต้องไปหาความรู้นอกห้องเรียน ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง โจทย์ที่อาจารย์ให้มาทำให้เราต้องไปหาความรู้ใหม่ๆ และความรู้นั้นมันจะอยู่กับเรามากกว่าเราจดในห้องเรียน เพราะเราต้องเรียนด้วยตัวเอง ทำความเข้าใจด้วยตัวเอง เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงาน

นายณภัทร เกษโกมล: อาจารย์ไม่ได้ตั้งโจทย์อะไรให้เพิ่ม แต่ให้เราไปคิดมาเอง ทางเราก็อยากหาอะไรที่ใหม่ๆ ก็ใช้เทคโนโลยี VR แล้วเกิดปัญหาคือเราไม่เคยใช้มาก่อน ต้องมาศึกษากันใหม่ทั้งหมด ต้องมาช่วยกันหาข้อมูลว่าจะทำอย่างไร เกมจะต้องเป็นประมาณไหน ต้องเขียนโค้ดอย่างไร ก็จะได้อะไรใหม่ๆ นอกจากในห้องเรียนมากขึ้น

พิธีกร : อาจารย์นำมาปรับใช้อย่างไรบ้าง

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: นอกจากการสอนการออกแบบกราฟฟิคดีไซน์แล้ว อีกอย่างหนึ่งก็คือจะสอนเรื่องจิตสำนึก สามัญสำนึกของการเป็นนักออกแบบที่ดี เพิ่มเข้ามาให้เขามองปัญหารอบตัวเป็นเรื่องของตัวเองมากขึ้น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น หลังๆ ก็จะใช้การออกแบบช่วยออกแบบเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว เช่น ออกแบบโลโก้ร้านค้าในมหาวิทยาลัยให้มันสวยงามมากขึ้น

พิธีกร: ได้ฟังแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: การทำงานมันนำไปใช้ได้หมด แต่ถ้าคุณเอาไปใช้บ่อยๆ นอกจากกระบวนการแล้ว จะช่วยขัดเกลาจิตใจ หลายๆ ครั้งที่เราทำประเด็นสังคม อย่างเช่น ประเด็นขับรถเร็ว เราเองก็ไม่ควรขับรถเร็ว เพราะเราก็ทำสื่อด้านนี้ ถ้าวันหนึ่งเราโดนจับซะเองก็คงจะตลก บางประเด็น อย่างเช่น ความรุนแรง คำพูด เรามีข้อมูลมาแล้ว มันก็จะทำให้เราคิดช้าลง ตัดสินช้าลง เพราะมันมีข้อมูลมาประกอบทำให้เราดีขึ้นได้ ถ้าทำบ่อยๆ จะเป็นการขัดเกลาให้เราดีขึ้น ก็เอาใจช่วยน้องๆ

พิธีกร: อยากจะแนะนำวิธีการคิดอะไรให้กับน้องๆ บ้าง

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: สิ่งที่มันจะออกมา มันไม่ได้ออกมาจากเราเอง จากที่เราทำงาน สิ่งที่มันออกมา พอเราไปอยู่กับปัญหา เราได้เห็นอะไรบางอย่างที่มันเป็น Guide-LINE แล้วเราจะเห็นว่าอะไรที่มันน่าสนใจ เราเคยคิดว่างานของเราเจ๋ง แต่พอไปคุยกับชาวบ้านที่เคยทำปัญหามาแล้ว เขาอาจจะเจ๋งกว่าเรา ก็อยากจะให้ฟังเขามากขึ้น แล้วถ้าวันหนึ่งเราจับประเด็นเก่ง งานก็จะออกมาดี แล้วต้องกลับมาระดมสมองและให้เขาระดมสมองร่วมด้วย ให้เขามามีส่วนร่วมในกระบวนการคิด พอได้ไอเดียมาก็จะไปคุยกับเขาอีกที ต้องให้กลุ่มเป้าหมายดูผลงานของเราก่อน ก่อนที่จะปล่อยออกไป

พิธีกร: อยากจะฝากอะไรถึงน้องๆ นักศึกษาไม่ว่าจะเป็นรุ่นนี้ หรือรุ่นต่อๆ ไปที่มาเข้าร่วมโครงการ

คุณสุรเสกข์ ยุทธิวัฒน์: รู้สึกดีใจที่พวกเราเข้ามาในโครงการนี้ การทำโครงการนี้เราจะได้กระบวนการคิดและประสบการณ์บางอย่าง แล้วอยากจะให้จำความรู้สึกนี้ไว้ว่าการที่ทำให้สังคมดีขึ้น การที่ช่วยคนอื่นให้ดีขึ้น มันมีความสุขแค่ไหน ถ้าทำได้สำเร็จแล้วจะติดใจ

อาจารย์สุภาพร หนูก้าน: วันนี้มีรุ่นที่ 6 เข้ามาดู ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าเราต้องทำแบบไหน จริงๆ การทำงานทุกครั้งที่ทำมา เราจะให้เด็กเริ่มถามตัวเองก่อนเกี่ยวกับปัญหาของเขา จะเป็นการให้เขาค่อยๆ อินกับสิ่งที่เขาทำไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอย่าพึ่งกดดันตัวเอง ค่อยๆ เรียนรู้กันไป

นายณภัทร เกษโกมล: อยากให้น้องๆ เข้ามาร่วมกันเยอะๆ เป็นเรื่องที่ดี นอกจากเราจะได้ฝึกฝนประสบการณ์การเรียนรู้ของเรา เรายังได้ทำเพื่อสังคม เราก็จะมีความสุขตอนที่มีคนมาดูงานของเรา แล้วเขาได้ผลลัพธ์บางอย่างกลับไป

.............................................................................

ชมบรรยากาศงานมหกรรมได้ที่นี่