สะท้อนความคิดประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ UNC ใน UNC Talk 2 โดยคุณเตชิต จิโรภาสโกศล อาจารย์ตฤศ หริตวร
นาถชิดา อินทร์สอาด


ช่วง UNC Talk 2 : โดย

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล : ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเทศศิลป์-นิเทศศาสตร์ : SATARANA

อาจารย์ตฤศ หริตวร : อาจารย์พี่เลี้ยง : คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การแสดงนิทรรศการนักศึกษา ครั้งที่ 4 “UNC The Exhibition 2018”

วันที่ 27 ตุลาคม 2561

โครงการเครือข่ายมหาวิทยาลัยสร้างสรรค์สังคมเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ปี 5 (ปี2561)


ถอดความจากช่วง Talk

 พิธีกร : อาจารย์ได้เข้าร่วมมากี่ครั้งแล้ว ร่วมมาตั้งแต่ครั้งที่เท่าไหร่

อาจารย์ตฤศ หริตวร: เป็นปีที่ 5 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมโครงการกับ UNC เข้าร่วมตั้งแต่ปีแรกได้นำนิสิตเข้ามาร่วมจำนวน 6 คน เป็นนิสิตที่อาสาสมัคร ซึ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ และตั้งแต่ปีที่ 2 มาก็เป็นกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น ช่วงปีหลังๆ ก็นำโครงการนี้เข้าสู่รายวิชา เช่น การทำอินโฟกราฟฟิก เป็นการนำโครงการไปปรับใช้กับการเรียนการสอน

พิธีกร: ผลงานของน้องๆ เป็นอย่างไรบ้าง

อาจารย์ตฤศ หริตวร: จะเห็นได้ว่าทุกๆ ปี นิสิตจะสะท้อนปัญหาสังคมในรูปแบบสื่อให้สังคมได้รับทราบ ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับปัญหานั้น แต่ละปีจะมีรูปแบบการสะท้อนที่แตกต่างกัน มีความคิดและปัญหาที่แตกต่างกัน การเลือกใช้ปัญหาที่ต่างกันไป ปีที่แล้วเน้นไปทางข้อมูลวิชาการ ส่วนปีนี้เน้นเรื่องของแรงบันดาลใจ

พิธีกร: อาจารย์ได้ให้คำแนะนำกับน้องๆ อย่างไรบ้าง

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงมากกว่า ให้นิสิตได้คิดกันเองว่าต้องการจะแก้ไขปัญหาแบบลงลึกแค่ไหนหรือจะเจาะประเด็นเลยไหม และจะช่วยดูกระบวนการการทำงานในเบื้องต้น

พิธีกร: คุณเตชิตรู้สึกอย่างไรบ้างกับโครงการนี้

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: เป็นโครงการที่น่าสนใจเพราะว่าเป็นการกระตุ้นให้นักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่ที่ยังมีอนาคตอีกยาวไกลในสังคม ได้มาลองฝึกมองปัญหาทางสังคม แล้วได้ฝึกใช้ทักษะของตัวเอง ลองดูว่าจะสื่อสารหรือมีวิธีแบบไหน ที่จะจัดการแก้ไขปัญหาที่พบเห็น ก่อนที่จะเรียนจบไปแล้วพบเจอปัญหาของจริงเขาจะทำยังไงที่ไม่ใช่แค่การบ่น

พิธีกร : อยากให้คุณเตชิตได้เล่าถึงชีวิตการทำงานให้ฟังหน่อยค่ะ

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: ผมว่าเป็นงานที่ยาก ปัญหาสังคมมันมีความเลือนลางระดับหนึ่ง มีปัญหามาระยะเวลาหนึ่งแล้วถึงจะเรียกว่าเป็นปัญหาสังคม การที่เราจะเข้าไปแก้ไข คงจะไม่มีวิธีที่พิเศษอะไรที่จะเข้าไปทำให้หายได้เลย ระยะเวลาที่มันเกิดปัญหาขึ้นมานาน ก็ต้องใช้เวลาที่นาน ถึงต่อให้เก่งแค่ไหน ก็ต้องใช้เวลาในการคลี่คลายปัญหา เมื่อปมมันถูกผูกไว้แน่นมาก กว่าคนจะค่อยๆแกะออกมา มันก็ต้องคลายทีละจุด ทุกๆ ปัญหาที่มันอยู่ในทุกสังคมมันยากหมด ถ้ามันแสดงผลออกมาให้เห็นชัดเจนแบบที่ตาเปล่าเห็นว่าเป็นอย่างไร นั่นคือไม่ได้แก้ไขง่ายๆ ต้องมีส่วนช่วยในหลายหลายภาคส่วน ในทีมงานผมเองไม่ได้มีแค่วิชาชีพเดียว ผมเองเป็นนักออกแบบสื่อสาร มีพื้นฐานมาจากกราฟฟิคดีไซน์ ก็จะมีเพื่อนที่เป็นนักออกแบบ สถาปนิก นักธุรกิจ นักวิจัย นักเขียน เป็นสหวิชาชีพเลย เพราะปัญหาของสังคมมันมองด้านเดียวไม่ได้ ต้องมองหลายๆ มุม ซึ่งสุดท้ายในทุกมิติควรที่จะถูกพัฒนาไปพร้อมๆกัน ไม่ใช่เพียงแค่อาชีพเดียว

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ก็เป็นการสะท้อนอย่างหนึ่งว่าการศึกษาช่วยที่จะสะท้อนมุมมองทางสังคมได้ว่านิสิต นักศึกษามีความคิดอย่างไร ซึ่งตอนนี้นักศึกษาเองเป็นเยาวชนที่ต้องเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต อย่างน้อยเราได้เห็นว่าเขามีความคิดอย่างไร เขาจะได้เรียนรู้ว่าปัญหาเป็นอย่างไรบ้าง

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: ผมคิดว่าการที่ได้เห็นปัญหาก่อน ก็จะเป็นการเรียนรู้ สุดท้ายนักศึกษาจบไปแล้ว คงไปบังคับไม่ได้ว่าเขาต้องมีจรรยาบรรณในการทำงาน หรือต้องไปทำงานเพื่อสังคม เพราะพื้นฐานชีวิตของคนต่างกัน แต่อย่างน้อยก็ให้เขาเห็นถึงปัญหา จะได้ไม่ต้องไปทำให้มีปัญหาเพิ่ม อาจจะไม่ต้องไปแก้ไขปัญหา แต่อย่าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดปัญหา

พิธีกร: เห็นผลงานของน้องๆ แล้วเป็นอย่างไรบ้าง

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: ด้วยเจตนาของน้องๆที่ทำมา เวลาเราคอมเม้นต์ เรารู้สึกว่าเราไม่อยากจะไปรื้องานของเขาหรือไปโจมตีงานเขา หรือใช้วิธีการคอมเม้นต์เหมือนแบบเป็นการตรวจงาน ผมรู้สึกว่าเรื่องทักษะเป็นเรื่องที่เขาจะต้องพัฒนาต่อ แต่ถ้าเป็นประเด็นสังคมเวลาผมคอมเม้นต์ ผมก็ดูว่าเขามองได้กว้างหรือลึกหรือยัง ถ้าเขาเห็นในจุดๆหนึ่งแล้ว แล้วผมก็จะพยายามชวนให้เขามองต่อไปว่าถ้าลึกกว่านั้นหรือกว้างก่อนนั้นจะเป็นอย่างไร เท่าที่เห็นมาก็ดูมีความหวัง อย่างน้อยเขาก็ได้เห็นประเด็นที่ปล่อยออกจากตัวเอง แสดงว่าเขาพยายามที่จะมองดูแล้ว ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่ได้เห็นผลงานของน้องๆ

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ก็มีหลายครั้งที่ผลงานน้องๆ ออกสู่สาธารณะ สู่สังคมเมื่อปีที่แล้ว ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

พิธีกร: ผลงานชิ้นไหนที่รู้สึกว่าเข้าตา

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล : ผลงานของนักศึกษา ICT มหาวิทยาลัยศิลปกร ที่ทำเรื่องไฟเหลือง เป็นประเด็นการแชร์ในโซเชียลมีเดีย หลายๆ กลุ่มทำเรื่องนี้ แต่ที่รู้สึกว่าของกลุ่มนี้น่าสนใจ เป็นเรื่องของการจัดการ เขาใช้ยูนิตทั้งศาสตร์ดีไซน์แคมเปญนี้ และแบ่งจัดสรรทีมได้ดี มีทีมsales ทีมCreative ทีมProduction ทีมDesign แบ่งแยกหน้าที่ชัดเจน ทำให้งานออกมามีระบบระเบียบ และเวลาสื่อสารออกไปสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่าย แต่ไม่ได้หมายถึงว่าของคนอื่นไม่ดี แต่การจัดระเบียบทางความคิดและสื่อสารทำให้สารของปัญหาสังคมที่มันยากๆ มันออกไปเข้าถึงได้ง่าย

อาจารย์ตฤศ หริตวร: นักศึกษาแต่ละกลุ่มสามารถสะท้อนปัญหาได้อย่างแข็งแรง

พิธีกร: ผลงานของจุฬาฯ ทำเกี่ยวกับอะไรบ้าง

อาจารย์ตฤศ หริตวร: การลดขยะที่เกิดจากงานเทศกาล ถ้าเขาได้ลดขยะจากการเกิดเทศกาลต่างๆ นี้ก็เป็นจุดหนึ่งในการเริ่มต้นช่วยเหลือสังคม เพราะในเมืองไทยมีเทศกาลทุกเดือน ก็จะมีขยะมากขึ้น เขาเลยมาคิดกันว่าจะลดขยะยังไงจากของขวัญที่ให้กัน ก็จะนำกล่องหรือกระดาษเรานั้นกลับมา reuse ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น

พิธีกร: ภูมิใจกับผลงานของนักศึกษาแค่ไหน

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ถือว่าประสบผลสำเร็จในส่วนหนึ่ง แต่อาจจะไม่ถึงที่เราต้องการ แต่ในช่วงเวลาระยะเวลาแค่นั้น และมีเรียนด้วย แต่ก็แบ่งเวลามาทำกิจกรรม

พิธีกร : สิ่งที่นักศึกษาทำ สามารถตอบโจทย์ให้กับสังคมได้อย่างไร มากน้อยแค่ไหน

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ก็คงได้ส่วนหนึ่ง ได้ตระหนักว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหาของสังคมส่วนหนึ่ง ที่เราอาจจะไม่คิดเลยว่ากล่องๆ เดียวจะเป็นปัญหาสังคมได้อย่างไร คงเป็นจุดเล็กๆ ที่สามารถตอบโจทย์ให้กับสังคมได้

พิธีกร: น้องๆ นักศึกษาจะได้ประโยชน์อะไรในโครงการนี้

อาจารย์ตฤศ หริตวร : ได้เครือข่ายของกลุ่มนักศึกษาต่างสถาบัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เวลาที่ทำโครงการมาแล้วนำเสนองาน มีผู้ใหญ่มาให้ข้อคิดเห็น กลุ่มอื่นๆ ก็จะได้นั่งฟังไปด้วย จะได้เห็นวิธีการทำงานของหลายๆกลุ่ม เพื่อนำมาปรับใช้กับของตัวเอง ถ้าจบไปแล้วคงจะไม่มีใครมาแสดงความคิดเห็นงานเราแบบนี้ ถ้าจบไปแล้วไปทำงานจริงๆ อาจจะหนักกว่านี้ โครงการนี้ก็เป็นเหมือนการสร้างภูมิต้านทานให้กับตัวเอง

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: มีมุมมองหนึ่งที่ค่อนข้างซีเรียส นักศึกษามีเจตนาดี แต่บางทีเราเห็นมิติที่ซับซ้อนกว่านั้น เราก็พยายามจะโยนโจทย์ให้เขาคิดตาม ซึ่งบางทีเราก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้เขากลัวมากเกินไปหรือเปล่า แต่ด้วยธรรมชาติของคนเราต้องอยู่กับปัญหาทุกวัน เรามองมันแบบตื้นๆ ไม่ได้ เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบเยอะ ถ้าเราทำไปด้วยความไม่เข้าใจ อาจจะมีผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มด้วยซ้ำ

พิธีกร: สุดท้ายอยากให้ฝากอะไรถึงน้องๆ ในรุ่นต่อไป ที่อยากจะเข้าร่วมโครงการ

คุณเตชิต จิโรภาสโกศล: ก่อนหน้านี้อาจจะเป็นนักศึกษาที่เป็นอาสาสมัครเข้ามาร่วมโครงการ แต่หลังๆ เห็นว่าอาจารย์ในแต่ละสถาบันก็ให้เป็นโจทย์หลัก ก็จะทำให้นักศึกษาได้ใช้เวลากับมันจริงๆ เพราะประเด็นสังคมเป็นประเด็นที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข ถ้าเป็นคนที่ชอบทำงานท้าทายตัวเอง ทำงานที่รู้สึกว่าไม่มีวันจบสิ้น คุณก็จะสนุกกับมัน ก็เป็นการได้ฝึกกระบวนการแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นตอน ตามความเป็นจริง ผมคิดว่าสังคมสมัยนี้ คงมีคนต้องการนักออกแบบไปในอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ใช่แค่การออกแบบเพื่อสร้างแล้วจบ แต่เป็นนักออกแบบที่จะจัดการคลี่คลายปัญหาได้ การเข้าโครงการนี้ทำให้เราได้ฝึกทักษะ มองสิ่งที่มีอยู่แล้ว ว่าเราจะคลี่คลายปมเหล่านี้ได้อย่างไร

อาจารย์ตฤศ หริตวร : จะได้ทราบถึงกระบวนการในการทำงาน ทราบถึงปัญหา ซึ่งจะเป็นขั้นตอนในการทำงานในอนาคต หรืออย่างน้อยๆ ถ้าได้ผ่านโครงการนี้ไปก็นำไปเป็นผลงานได้ในอนาคต ถ้าไปสมัครงานที่ไหนอย่างน้อยเขาก็จะได้เห็นว่าเราผ่านกระบวนการทำงานเกี่ยวกับด้านสังคมมา ก็อาจจะเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป



ชมบรรยากาศงานมหกรรมได้ที่นี่

.....................................................................