การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว จังหวัดศรีสะเกษ ปีที่ 1

สืบต่อทอเส้นไหมโซดละเว

โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย(โซดละเว)


นับแต่นี้ต่อไปมั่นใจว่า...ผ้าโซดละเวจะอยู่คู่กับชุมชนบ้านแต้พัฒนาตลอดไป และตัวเขาเองเมื่อโตขึ้นก็จะทอผ้าเป็นอาชีพเสริม หากมีโครงการต่อก็อยากต่อยอดการทำงานโดยทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ให้ความรู้เรื่องผ้า การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้าลายต่างๆ วิธีการใช้ผ้าในโอกาสต่างๆ ตลอดจนความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับผ้าโซดละเวที่ได้จากการรวบรวมไว้ทั้งเนื้อหา รูปภาพ วิดีโอ ที่พร้อมจะสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจต่อไป



บ้านแต้พัฒนา หมู่ 11 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนชาวกวย (ส่วย) มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 50 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือ ทำนา อาชีพเสริมคือ การเลี้ยงไหม ทอผ้า มีวัฒนธรรมประเพณีการแต่งกายด้วยผ้าไหมลายหางกระรอก (ฉิโซดละเว) และมีการใช้ผ้าไหมในพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ หรือใช้ในพิธีกรรมทำขวัญข้าว ห่อพระคัมภีร์ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ หญิงสาวชาวกวยทุกคนต้องทอผ้าเป็น และจะทอผ้าไหมโซดละเวเก็บสะสมไว้เป็นเครื่องนบ (ผ้าไหว้) ญาติผู้ใหญ่เมื่อแต่งงาน ยามเมื่อมีงานบุญประเพณีคนในชุมชนมักสวมใส่ผ้าไหมออกงาน แม้แต่โรงเรียนโพธิ์กระสังข์ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชนก็มีฐานการเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไหมไว้ด้วย แต่วันนี้วัฒนธรรมการแต่งกายแบบโซดละเวเริ่มจางหายไป เยาวชนคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่หันไปแต่งตัวตามสมัยนิยม ไม่สนใจเรียนรู้สืบทอดอาชีพเลี้ยงไหม ทอผ้า ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกวยอีกต่อไป



+ทุนเดิมที่แข็งแกร่ง

กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเวรวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมานานแล้ว ในนามกลุ่มเยาวชนอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ที่ผ่านมามักเป็นการรวมตัวกันช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมในชุมชน เช่น งานศพ งานแต่ง งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม โดยทุกเย็นเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านร่วม 30 คน จะไปรวมตัวกันที่บ้านพี่แอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งเล่น และทำการบ้าน แล้วแต่ว่าวันนั้นจะมีอะไรให้ทำ

“ทำทุกอย่างทั้งเลี้ยงไหม ทอผ้า ทำบายศรี ฝึกจับผ้าประดับ เรียนรำ ช่วยกันทำการบ้าน เล่นเกม” เต๋า-อภิชาต วันอุบล เล่าถึงกิจกรรมของกลุ่มเยาวชนก่อนที่จะทำโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย(โซดละเว)

ส่วนพี่แอ๊ดผู้มีบทบาทหลักในการรวบรวมเด็กๆ มาทำกิจกรรมเล่าถึงเบื้องหลังความคิดว่า “ต้องรวมเด็กให้มาทำกิจกรรม เพราะถ้าเด็กได้ใช้เวลาว่างทำกิจกรรม จะสร้างประสบการณ์ให้เขาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะทำวันละนิดวันละหน่อยก็ตาม”

ขณะที่ผู้ใหญ่บ้านดล-นภดล โพธิ์กระสังข์ ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ว่า “ส่วนมากเด็กๆ จะชอบเวลาพี่แอ๊ดมีกิจกรรม ถ้าแจ้งมาว่า วันนั้นวันนี้ให้ไปช่วยงานที่นั่นที่นี่ ให้มาฝึกซ้อมที่บ้านพี่แอ๊ด พ่อแม่ก็จะรู้ ถ้ามาอยู่บ้านพี่แอ๊ดไม่มีใครว่า เพราะพี่แอ๊ดพาทำในสิ่งที่ดีๆ ไม่มีอะไรเสียหาย”

แต่ในปีนี้การรวมกลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเวเริ่มมีความหมายมากขึ้น เมื่อโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดโอกาสให้ทำโครงการเพื่อชุมชน พวกเขาเห็นว่านี่เป็น “โอกาสดี” ที่จะได้รื้อฟื้นและสืบสานการทอผ้าโซดละเวให้กลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีการใช้ผ้าไหมของชุมชน จึงคิดทำโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย (โซดละเว) โดยสมาชิกในทีมประกอบด้วย เต๋า,  ลม-วิภา โพธิสาร, อุ-สายสุดา วันอุบล, กั้ง-ฐิตานันท์ หงส์นภวิทย์  และคิด-สุกฤกตยา ทองมนต์ มีพี่แอ็ดเป็นพี่เลี้ยงโครงการ


+เรียนรู้จากชุมชน

ด้วยเป้าหมายที่ทีมตั้งไว้ว่าจะสืบสานกระบวนการทอผ้าไหมโซดละเว เพื่อพัฒนาเป็นทักษะที่สร้างอาชีพติดตัวได้ และเพื่อให้การทำงานเดินไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนลงมือทำโครงการทุกคนจึงต้องทำความเข้าใจกับเนื้องานที่ต้องทำก่อน การประชุมจึงเป็นกิจกรรมสำคัญอันดับแรกที่ทีมให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความเข้าใจและแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างกัน รวมทั้งกำหนดกรอบประเด็นในการศึกษาข้อมูลซึ่งทีมมองว่า การจะสืบทอดต่อไปได้นั้น พวกเขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และปัญญาการใช้ประโยชน์การทอผ้าไหมตั้งแต่ลายผ้า การย้อม การทอ วิธีการใช้ผ้าไหม หลังจากนั้นจึงจัดประชุมชี้แจงโครงการต่อชุมชนว่า เยาวชนจะทำอะไร อย่างไร เพื่อบอกกล่าวและขอความร่วมมือจากผู้รู้ในชุมชน

ในการรวบรวมข้อมูลความรู้ ทีมได้พากันไปสัมภาษณ์ผู้รู้ซึ่งก็คือ คนเฒ่า คนแก่ในชุมชน ถึงเรื่องลายผ้า วิธีการใช้ผ้าไหมหางกระรอกในโอกาสต่างๆ และการทอผ้า

“ก่อนไปเราจะช่วยกันตั้งคำถามก่อนว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ระดมสมองกันว่าจะถามเรื่องอะไรบ้าง ตัวอย่างเช่น วันนี้จะไปเก็บข้อมูลเรื่องการใช้ผ้า ก็จะให้แต่ละคนคิดคำถาม เช่น ผมยกผ้าผืนหนึ่งขึ้นมาแล้วถามว่า ผ้านี้ใช้ในงานอะไร วิธีการทำอย่างไร เป็นการช่วยสร้างกรอบคำถามก่อนลงมือปฏิบัติจริง” พี่แอ๊ดเล่าถึงการเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มเยาวชน

เมื่อถึงวันสัมภาษณ์ใช่ว่าทีมงานจะตะลุยถามเอาความรู้จากผู้รู้อย่างเดียว เต๋าบอกว่า เขาและเพื่อนจะเริ่มต้นสัมภาษณ์ด้วยการทักทายสอบถามสารทุกข์สุกดิบก่อน แล้วค่อยๆ สอบถามไปทีละข้อ โดยมีเพื่อนคอยจดบันทึก ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน

“ผู้รู้แต่ละท่านจะให้ข้อมูลเหมือนๆ กัน แม้จะมีการกำหนดประเด็นเฉพาะคนๆ ไว้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ทุกคนจะรู้เหมือนกัน การเก็บข้อมูลจึงทำได้ไม่ยาก” ลมเล่าถึงความร่วมมือที่ได้รับจากผู้รู้

เต๋าเล่าเสริมว่า การไปสัมภาษณ์แต่ละครั้งไม่ได้มีแค่ทีมงานเท่านั้น แต่จะชวนเด็กๆ ในชุมชนไปเรียนรู้พร้อมกัน บรรยากาศในการสัมภาษณ์จึงเหมือนเด็กไปเยี่ยมผู้เฒ่าผู้แก่ที่บ้าน สร้างความแช่มชื่นครื้นเครงแก่ผู้สูงอายุเป็นอย่างดี

เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ทีมงานจัดการแยกประเภทข้อมูลเป็นหมวดหมู่ เช่น ประวัติของผ้า ลายผ้า การทอผ้า การใช้ประโยชน์จากผ้าแต่ละประเภท รวมทั้งค่านิยมความเชื่อของคนในชุมชนชาวกวยในอดีตที่บอกว่า ผู้หญิงจะแต่งงานได้ต้องทอผ้าเป็นก่อน เพราะต้องทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนบ (ผ้าไหว้) ผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ซึ่งค่านิยมนี้ส่งผลให้บ้านทุกหลังที่มีลูกสาวต้องมีกี่ตั้งอยู่ ผู้หญิงในหมู่บ้านทุกคนทอผ้าเป็นและสืบต่อมาจนกลายเป็นอาชีพเสริมยามว่างนอกฤดูทำนาในปัจจุบัน


+ปฏิบัติการของทุกช่วงวัย

การได้รู้ข้อมูลทำให้เยาวชนเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของผ้าโซดละเว และการได้รับรู้เรื่องราวของผืนผ้าทำให้การลงมือในขั้นตอนปฏิบัติยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เพราะทีมเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่การเลี้ยงไหมพันธุ์สีเหลือง (พันธ์นางน้อย) กับสีชมพู (พันธุ์นวลจันทร์) ดูแลหาใบหม่อนให้ตัวไหมกิน เมื่อพบว่าต้นหม่อนในบริเวณชุมชนไม่ค่อยมี ต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปหาไกล 3-4 กิโลเมตร ช่วงแรกของการทำโครงการนี้ทีมได้ไปขอพันธุ์ต้นหม่อนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติศรีสะเกษกว่า 1,000 ต้น นำมาปลูกในพื้นที่สาธารณะของชุมชน เช่น โรงเรียน วัด แต่ด้วยความแห้งแล้งทำให้ปัจจุบันมีต้นหม่อนเหลือเพียง 100 ต้น

ส่วนการเลี้ยงไหมก็ไม่ใช่ง่ายๆ งานนี้ทีมต้องเฝ้าดูแลกันอย่างใกล้ชิด คอยลุ้นกันทุก 10 วันที่ไหมจะลอกคราบเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จนไหมสร้างรังดักแด้ จึงจะเก็บมาใส่กระด้ง ลอกเอาเปลือกไปสาวจนได้เส้นไหม ไหมที่ได้จะถูกเก็บเป็นพวง (ใจ) แล้วนำไปฟอกให้ขาว ก่อนจะนำไปแกว่งเพื่อทำความสะอาด แล้วนำไปย้อม ก่อนจะนำ

ไปทอเป็นผืนผ้า โดยตลอดกระบวนการทุกขั้นตอนจะมีชาวบ้านแวะเวียนกันมาดูการทำงานของเยาวชน บางครั้งที่เยาวชนทำไม่ถูก ชาวบ้านก็จะสอน บรรยากาศการเรียนรู้จึงเป็นไปอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย

“ความรู้เรื่องการเลี้ยงไหมเราก็รู้มาจากคนเฒ่าคนแก่ ถามไปทีละขั้น ใช้บ้านพี่แอ๊ดเป็นศูนย์รวมในการรวมตัวทำกิจกรรม แบ่งหน้าที่กันทำงาน บางคนไปเก็บหม่อน บางคนก็ให้อาหาร บางคนก็เก็บขี้ไหม เพราะถ้าไม่ทำความสะอาดมันจะตาย ต้องดูแลทุกวัน ถ้าแมลงวันมาตอมมาเจาะตัวไหม หรือถ้ามีกลิ่นสารเคมีมันก็จะตายหมดเลย เราต้องดูแลไม่ให้แมลงวันมาเจาะโดยเอาผ้ามาคลุม หรือกางมุ้งให้มัน” อุบอกเล่าถึงขั้นตอนการทำงาน

ช่วงปิดเทอมเล็ก น้องๆ ช่วยกันเลี้ยงไหม 10 กระด้ง ได้ไหมมาทั้งหมด 4 ใจ ซึ่งการทอผ้าถุง 1 ผืนต้องใช้ไหม 2 ใจ

“ทุกกิจกรรมในโครงการออกแบบให้เยาวชนทุกช่วงวัยได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น หากเป็นเด็กเล็กจะให้ทำสิ่งง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากเข้าไปเรื่อยๆ...บางครั้งก็ต้องกระตุ้นเรื่องวิธีคิด จะมีวิธีฝึกโดยการยกตัวอย่าง เช่น บอกว่าไม่มีใครเป็นตั้งแต่เกิด เขาก็ต้องคิดว่า ฉันต้องทำให้ได้ ต้องลงมือทำจึงจะเป็น ต้องลองทำก่อนจึงจะรู้”

พี่แอ๊ดเล่าว่า ทุกกิจกรรมในโครงการเขาออกแบบให้เยาวชนทุกช่วงวัยได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เช่น หากเป็นเด็กเล็กเขาจะให้ทำสิ่งง่ายๆ ที่เป็นพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มความยากเข้าไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าเป็นน้องชั้นอนุบาลเริ่มจากการแกว่งไหม ถ้าเป็นพี่โตขึ้นมาหน่อยก็ทอผ้า ใครทอลายไหนเป็นก็แบ่งกันทำ แต่บางครั้งก็ต้องกระตุ้นเรื่องวิธีคิด จะมีวิธีฝึกโดยการยกตัวอย่าง เช่น บอกว่าไม่มีใครเป็นตั้งแต่เกิด เขาก็ต้องคิดว่า ฉันต้องทำให้ได้ ต้องลงมือทำจึงจะเป็น ต้องลองทำก่อนจึงจะรู้

อย่างไรก็ตามแม้บางคนจะทอผ้าเป็นอยู่แล้ว แต่จะทอได้บางลายเท่านั้น เช่น ลมทอโซดละเวและมัดหมี่เป็น อุ๊ กั้ง คิด ทอผ้าโซดละเว ส่วนเต๋าทอลายโสร่งกับลายลูกแก้วได้ แต่ลายผ้าดั้งเดิมของชุมชนยังมีอีกมาก เช่น ผ้าไหมมัดหมี่, โสร่ง, ลายลูกแก้ว, ฉิจ์ละเว, ฉิจ์สะนอบ (ผ้ายาวโจงกระเบน), ฉิจ์ปัดท์ก็คือการทอระหว่างมัดหมี่ผสมโซดละเวคั่นเป็นช่องเป็นช่องไป, ฉิจ์สไบคือ ผ้าขาวม้า, สไบเก็บ คือ ผ้าสไบลายลูกแก้ว แต่จากการสืบค้นของทีมพบว่า มีลายที่ต้องรีบอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนคือ ลายมัดหมี่ที่เรียกว่า ลายงูเหลือม เพราะเริ่มหาคนทอเป็นยากแล้ว

เมื่อถึงช่วงท้ายๆ ของโครงการทีมสามารถทอผ้าได้ถึง 11 ผืน มีทั้งลายโซดละเว, ลายลูกแก้ว และโสร่ง เพราะการทอผ้าแต่ละผืนต้องใช้เวลาทั้งวันกว่าจะได้ผ้าโซดละเวยาว 2 เมตร ความกว้าง 70 เซ็นติเมตร ยิ่งถ้าทอลายลูกแก้วต้องใช้เวลาถึง 3 วัน วันนี้ผ้าทั้ง 11 ผืนที่พวกเขาช่วยกันทอยังคงถูกรวบรวมไว้ด้วยกัน โดยทีมยังไม่คิดจะขายในตอนนี้ เพราะตั้งใจไว้ว่าจะทอสะสมให้ได้จำนวนมากก่อนจึงจะขายนำเงินที่ได้เป็นทุนหมุนเวียนลงทุนเลี้ยงไหมต่อไป


+ย้อมสีธรรมชาติ...เพิ่มคุณค่าผ้าโซดละเว

เมื่อเรียนรู้ผ้าไหมโซดละเวอย่างลึกซึ้งแล้ว ทีมคิดเพิ่ม “คุณค่า” ผ้าไหมโซดละเวขึ้นด้วยการ “ย้อมสีธรรมชาติ” แทนการใช้ “สีเคมี” แม้ว่าบ้านแต้พัฒนามีชื่อเสียงเรื่องผ้าไหมย้อมสีเคมีมาก่อนก็ตาม แต่พวกเขาพยายามสร้างทางเลือกใหม่ โดยแสวงหาความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ แก่นไม้ต่างๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ด้วยตระหนักว่า สีธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สวมใส่ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผ้าไหมได้ เนื่องเพราะที่ผ่านๆ มา มักมีผู้คนมาสอบถามถึงผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติอยู่เนืองๆ

“เราอยากย้อมสีธรรมชาติ เพราะรู้สึกว่า สีเคมีมันสวยแต่ไม่ค่อยมีคุณค่า เรารู้ว่าคนในหมู่บ้านเขาย้อมเป็น เราไปถามคนแก่เขาก็บอกว่า ย้อมยังไง ต้องใส่อะไร เราก็มาลองทำดู ทำผิดทำถูกอยู่หลายครั้งกว่าจะได้สีที่ต้องการ” เต๋าเล่าที่มาของแนวคิดการย้อมสีธรรมชาติ

เพราะความรู้เรื่องสีธรรมชาติถูกลืมเลือนไปบ้างแล้วจากความทรงจำของคนในชุมชน เมื่อทีมค้นคว้าผ่านการลองผิดลองถูกจนได้ความรู้พร้อมกับจดบันทึกไว้เป็นองค์ความรู้ให้คนในชุมชนได้ใช้งานต่อไป เช่น ต้นจันเขให้สีเหลือง ใบหูกวางให้สีเขียว ครั่งให้สีแดง มะเกลือให้สีดำ เป็นต้น

วันนี้การรื้อฟื้นการย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มเยาวชนที่เคยถูกชาวบ้านตั้งคำถามว่า ทำทำไมหลายขั้นตอน ยุ่งยาก แต่เมื่อได้เห็นผลงานของเด็กๆ กลายเป็นว่า ได้ปลุกกระแสความต้องการย้อมสีธรรมชาติขึ้นในชุมชน เพราะย่า ยาย ป้า น้า บางคนเริ่มถามถึงใบไม้ แก่นไม้ที่ใช้ในการย้อมสีธรรมชาติมากขึ้น


+สืบสานผ้าไหม สืบทอดภูมิปัญญา

ขณะนี้แม้รายได้จากการขายผ้าทอจะยังไม่เกิดขึ้น แต่พี่แอ๊ดหัวเรือใหญ่ของกลุ่มบอกว่า เขารู้สึกพอใจกับการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชน ที่มีเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมเป็นจำนวนมาก และสิ่งที่พัฒนาอย่างเห็นได้ชัดคือ ความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น เพราะการเลี้ยงไหมต้องใส่ใจดูแลอย่างละเอียด หรือการย้อมสีธรรมชาติก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน แต่ทุกคนก็ตั้งใจรับผิดชอบทำจนเสร็จ เพราะหากทิ้งไปกลางคัน ผ้าที่ย้อมก็จะไม่เสร็จ สีไม่สม่ำเสมอ หรือสีไม่ติด อาจส่งผลให้คุณภาพของผ้าไหมลดลง

“สิ่งที่พัฒนาอย่างเห็นได้ชัดคือความรับผิดชอบที่มีมากขึ้น เพราะการเลี้ยงไหมต้องใส่ใจดูแลอย่างละเอียด การย้อมสีธรรมชาติก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องทำให้เสร็จในแต่ละวัน แต่ทุกคนก็ตั้งใจรับผิดชอบทำจนเสร็จสิ้น เพราะหากทิ้งไปกลางคัน ผ้าที่ย้อมก็จะไม่เสร็จ สีไม่สม่ำเสมอ หรือสีไม่ติด อาจส่งผลให้คุณภาพของผ้าไหมลดลง”

ขณะที่เต๋าเองก็บอกว่า นับแต่นี้ต่อไปเขามั่นใจว่าผ้าโซดละเวจะอยู่คู่กับชุมชนบ้านแต้พัฒนาตลอดไป และตัวเขาเองเมื่อโตขึ้นก็จะทอผ้าเป็นอาชีพเสริม หากมีโครงการต่อก็อยากต่อยอดการทำงานโดยทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชน ให้ความรู้เรื่องผ้า การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้าลายต่างๆ วิธีการใช้ผ้าในโอกาสต่างๆ ตลอดจนความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับผ้าโซดละเวที่ได้จากการรวบรวมไว้ทั้งเนื้อหา รูปภาพ วิดีโอ ที่พร้อมจะสร้างการเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจต่อไป

การทำโครงการแม้จะเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากภารกิจชีวิต ทั้งเรียน ทั้งช่วยทำงานบ้าน แต่ทุกคนบอกว่า รู้สึกสนุกและภูมิใจกับการทำงานนี้

“ที่โรงเรียนก็ต้องเรียน ไหนจะต้องทำโครงการนี้ งานบ้านอีก เหนื่อยก็เหนื่อย แต่ต้องทำ เพราะมันสนุกด้วย มีความภูมิใจว่าเราสามารถทำได้ จริงๆ เราไม่ทำก็ได้ แต่ทำแล้วมีคนชมก็ภูมิใจอยากทำต่อไปเรื่อยๆ เช่น เวลาเราไปเดินห้างใส่ผ้าโสร่งไป คนก็มองว่า เรามาจากที่ไหน เราก็ไม่อายนะ ใส่โสร่งมีคุณค่ามากกว่าใส่กางเกงยีนส์ เคยนุ่งผ้าโสร่งไปเที่ยวที่วิหารหลวงพ่อโต เขาพนมรุ้ง มีคนมาขอใส่ยืมถ่ายรูป เขาถามด้วยว่า มาจากไหน” เต๋าสะท้อนความภาคภูมิใจในผลงาน

ความภาคภูมิใจของทีมยิ่งปรากฏชัด เมื่อเห็นผลงานของตนเองที่เคยโชว์ไว้ในเฟสบุ๊คของกลุ่มถูกแชร์รูปภาพไปใช้ในเว็บไซต์ “ผ้าพื้นเมืองของศรีสะเกษ” ของจังหวัด สร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่ม จนมีออเดอร์สั่งผ้าโซดละเวย้อมสีธรรมชาติ แต่กลุ่มเยาวชนยังไม่มั่นใจว่าจะสามารถผลิตสินค้าได้ทันจึงต้องปฏิเสธไปก่อน

และในวันที่จัดงาน “ตะโปนจลองจ์โซดละเว สานสัมพันธ์บนผืนผ้า” ซึ่งเป็นกิจกรรมสื่อสารสร้างการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมในวิถีชุมชนชาวกวยและกระบวนการทอผ้าโซดละเวให้ผู้นำท้องถิ่น คนในชุมชน และผู้สนใจรับรู้ เป็นอีกวันหนึ่งที่ได้พิสูจน์ศักยภาพของเยาวชนให้คนในชุมชมได้เห็น เพราะการออกแบบงาน การจัดนิทรรศการความรู้ เชิญผู้รู้ในชุมชนร่วมสาธิตการทอผ้า จัดทำสื่อแผ่นพับ การนำเสนอกระบวนการทำงาน การแสดง การประสานงานกับหน่วยงานราชการ ล้วนเป็นผลงานของเยาวชน จากงานที่คิดกันว่า เป็นงานเล็กๆ กลายเป็นงานใหญ่ที่งดงาม มีตัวแทนนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่น เข้าร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง จนได้รับความชื่นชมและเปลี่ยนมุมมองของผู้ใหญ่ในชุมชนได้

“ตั้งแต่โตมา ไม่เคยเห็นเด็กกลุ่มไหนทำได้เลย แต่เด็กกลุ่มนี้ทำได้สำเร็จ แรกๆ เด็กเขาไปรวมตัวทำกันจนดึกดื่นก็แอบไปดูเหมือนกัน กลัวว่าเขาจะทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า เพราะชุมชนมียาเสพติดระบาด พอเด็กๆ มาทำผ้าไหม ยาเสพติดก็หายไป”

“ตอนเขามาบอกว่าจะทำโครงการ กรรมการบอกว่าถ้าจะทำต้องทำจริงจัง ทำให้เป็น ไม่ทำทิ้งๆ ขว้างๆ จะเสียชื่อหมู่บ้านไปด้วย ทีแรกที่เด็กจะทำไม่เชื่อว่าจะทำสำเร็จ เพราะตั้งแต่โตมา ไม่เคยเห็นเด็กกลุ่มไหนทำได้เลย แต่เด็กกลุ่มนี้ทำได้สำเร็จ แรกๆ เด็กเขาไปรวมตัวทำกันจนดึกดื่นก็แอบไปดูเหมือนกัน กลัวว่าเขาจะทำอะไรไม่ดีหรือเปล่า เพราะชุมชนมียาเสพติดระบาด พอเด็กๆ มาทำผ้าไหม ยาเสพติดก็หายไป แต่ก่อนเด็กมั่วสุม ขับรถออกนอกหมู่บ้าน ตอนนี้พอเลิกเรียน กินข้าวเสร็จ ก็ไปเรียนรู้การทอผ้า ตอนนี้เราก็จะเริ่มมองเขาใหม่แล้ว” วรวุฒิ ศรีทองธนเดช กรรมการหมู่บ้านบอกเล่า ความรู้สึกต่อเยาวชนที่เปลี่ยนไป

ผู้ใหญ่ดลก็ช่วยยืนยันถึงความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนในสายตาของผู้ใหญ่บ้านอย่างปลื้มใจว่า “ได้รับคำชื่นชมตลอดว่า เยาวชนมีความเป็นทีม เป็นระเบียบเรียบร้อย แต่งกายดี ชุมชนอื่นๆ เขาจะชมเด็กบ้านนี้ เพราะส่วนมากงานบุญ งานศพ เด็กก็จะไปช่วยตลอดไปเสิร์ฟน้ำ ไปเป็นเจ้าภาพงานสวดอภิธรรม เขาแต่งชุดพื้นบ้านที่ทำกันเองไป”

ส่วนเยาวชนเองก็มองว่า การทำโครงการเป็นประโยชน์ต่อพวกเขามาก อุบอกว่า “ทำตรงนี้ได้เรื่องกระบวนการคิดวิเคราะห์ เหมือนกับว่า เราทำงานเราต้องมีการวางแผนการทำงานก่อน

ส่วนลมมองว่า การทำงานทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งความสามัคคีที่เกิดขึ้นกลายเป็นจุดแข็งในการทำงานของทีม แม้ว่าจะมีปัญหาบ้างในเรื่องเวลาที่ว่างไม่ตรงกัน แต่ทุกคนก็ผ่านมาได้

“อันไหนที่ไม่รู้ก็ปรึกษาพี่แอ๊ดได้ สิ่งที่แอ๊ดพี่สอนทุกอย่างไม่ว่ารำ ทำบายศรี จับผ้า วิธีคิด การวางตัว ตอนนี้พวกเราทำเป็นทุกอย่าง สามารถรับงานทำบายศรี ประดับผ้า เป็นรายได้เสริมได้สบาย”

ขณะที่พี่แอ๊ดบอกว่า ต่อไปแม้จะไม่มีโครงการนี้ แต่หากเขายังอยู่ในชุมชนก็จะทำต่อไป ยอมรับว่าโครงการนี้ทำให้ได้เด็กรุ่นใหม่ที่ทำไม่เป็น ไม่สนใจผ้าไหมโซดละเว หันกลับเข้ามาร่วมเรียนรู้สืบทอดการทอผ้าไหมเพิ่มขึ้น ที่สำคัญคือโครงการนี้ทำให้กลุ่มเยาวชนมีแรงบันดาลใจมากขึ้นในการสืบทอด ทำให้เยาวชนชินกับการทำงานและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ไม่ได้ไปเลาะเล่น (เที่ยวเล่น) เถลไถลที่ไหน แต่ก็ยังมีข้อที่แอบห่วงกังวลเล็กๆ เรื่องโซเชียลมีเดียมากที่สุด จนต้องเตือนและสอนว่ามันมีคุณมีโทษอย่างไร

วันนี้ เสียงกี่ทอผ้ายังคงดังก้องอยู่ในมุมโน้น มุมนี้ในหมู่บ้านแต้พัฒนา กลุ่มเยาวชนได้พิสูจน์ตนเองผ่านความอุตสาหะ ฝึกฝนจนทอผ้าไหมได้เป็นผืน รังสรรค์สิ่งใหม่จากการรื้อฟื้นกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ กลายเป็นการปลุกกระแสให้คนในชุมชนกลับมาสนใจการย้อมสีธรรมชาติมากขึ้น ที่สำคัญคือโครงการนี้เป็นการสานสัมพันธ์บนผืนผ้าของคนในชุมชนผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ สืบค้นข้อมูล และร่วมจัดงาน “ตามรอยโซดละเว” การถ่ายทอดอัตลักษณ์ คุณค่าวัฒนธรรมชาติพันธุ์กวยผ่านการแต่งกายและพิธีกรรมชุมชน เช่น การรำไหว้ครู การรำแม่มด ผลลัพธ์จากการทำงานของเยาวชนได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัยที่ร้อยรัดดั่งเส้นไหมที่ถูกทอถักเป็นผืนผ้า จนสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใหญ่ว่า พวกเขาเป็นกลุ่มคนคุณภาพที่สามารถฝากอนาคตของชุมชนไว้ในกำมือได้อย่างวางใจ


­


องค์ความรู้จากโครงการ : การใช้ผ้าไหมลายหางกระรอกในพิธีต่างๆ

  • งานบวช นาคจะนุ่งฉิจ์สะนอบจ์ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) เข้าพิธีอุปสมบท
  • พิธีแต่งงาน เจ้าสาวนุ่งฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) เจ้าบ่าวนุ่งฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) และใช้ผ้าทอเป็นเครื่องไหว้ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชาย ไม่ว่าจะเป็น ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ชาวกวยถือเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะฉจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) จะต้องต่อเชิงทั้งสองด้านบนและล่าง เชิงด้านล่างเรียกว่า บูลจ์บูลจ์ (เชิงไหมมัดหมี่) มีความกว้าง 12 เซนติเมตร เสลิก (ไหมยกมุกลายข้าวหลามตัด) มีความกว้าง 3 เซ็นติเมตรปลอจ์ฉิจ์ หัวเชิงด้านบน ทอด้วยการยกขิดลายก้างปลา ลายดอกหมาก ลายโคมห้า ซึ่งในอดีตผ้าฉิจ์ละเวไม่กว้างมากนัก จึงต่อเชิงด้านบนและล่างให้มีความกว้างมากพอสำหรับการนุ่ง
  • พิธีกรรมเกลนางออ (รำแม่มด) เป็นเครื่องสมมา (ไหว้) แถน (เทวดาประจำตัวหรือประจำตระกูล) ผู้รำจะสวมฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว)
  • งานอวมงคล (งานศพ) ใช้ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ในการคลุมโรงศพ เชื่อกันว่าให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วไปสู่สรวงสวรรค์และมีผ้าผ่อนที่ดีใช้ในโลกหน้า
  • บุญเทศน์มหาชาติ (บุญผะเหวด) ใช้ผ้าโซดละเวทุกประเภทในการห่อพระคัมภีร์
  • ประเพณีต่างๆ เซ่นสาร์ทเดือนสิบ ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ในการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อให้ได้ใส่ผ้าใหม่ๆ
  • พิธีเรียกขวัญ (กะเยือละวาย) ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) เซ่นเทวดารักษาประจำตัวผู้ป่วย เพื่อให้มาอยู่เหมือนดั้งเดิม
  • พิธีสู่ขวัญข้าว (โซดทรอจ์) ใช้ฉิจ์ละเว (ซิ่นไหมเข็นควบ) ฉิจ์สะนอบ (ผ้าไหมหางกระรอกยาวโจงกระเบน) ฉิจ์โทรงจ์ (ผ้าโสร่งไหม) ฉิจ์ปัดท์ (ผ้าไหมมัดหมี่คั่นโซดละเว) ในการเซ่นไหว้พระแม่โพสพ เพื่อปกปักรักษาและให้ข้าวน้ำบริบูรณ์


กระบวนการเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว


โครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย(โซดละเว)

แกนนำเยาวชน

1) อภิชาต วันอุบล   2) วิภา โพธิสาร  3) สายสุดา วันอุบล  4)  ฐิตานันท์ หงษ์นภวิทย์  5) สุกฤตยา ทองมนต์

พี่เลี้ยงโครงการ สิบเอกวินัย โพธิสาร