ณัฐพล ต่อกัน
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง จังหวัดลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี

บ้านห้วยโป่งสามัคคี หมู่ 11 ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

ชื่อเรื่อง ไปให้สุดและไม่หยุดท้าฝัน การลงมือทำที่เกิดจาก “ความชอบ” ของ ณัฐพล ต่อกัน


รู้หรือไม่ว่า..."ผักปลอดภัย" "ผักไร้สาร" (ปลอดสารพิษ) และ"ผักอินทรีย์" แตกต่างกัน?

แล้วรู้ไหมว่า... “ผักปลอดภัย" "ผักไร้สาร" (ปลอดสารพิษ) และ"ผักอินทรีย์" แตกต่างกันอย่างไร?

จากประสบการณ์ทำ “โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมืองบ้านห้วยโป่งสามัคคี” ราวปลายปี 2560 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการปลุกสานึก สร้างพลัง เสริมศักยภาพ เยาวชนเมืองลำพูน” ครั้งนั้นกลุ่มเยาวชนแกนนำได้ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุในชุมชน สานสัมพันธ์ใกล้ชิดกระทั่งมองเห็นความเจ็บไข้ได้ป่วย หลายคนสุขภาพทรุดโทรม บางคนถึงขั้นเสียชีวิตจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วเมื่อสืบเสาะถึงต้นทางของโรคภัยเหล่านั้น กลุ่มเยาวชนค้นพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากอาหารการกิน จึงเป็นที่มาให้เกิด “โครงการปลูกผักปลอดภัย ไร้สารเคมี” ต่อในปีที่สอง

นัท - ณัฐพล ต่อกัน เป็นหนึ่งในสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการมาตั้งแต่ปีแรก ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแม่แตง

นัท เล่าข้อมูลสถิติจากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน โดยคณะกรรมการหมู่บ้านห้วยโป่งสามัคคี และกลุ่ม อสม. รวบรวมเข้ากับข้อมูลจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแม่ตื่น อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ช่วงเดือนมกราคม 2560 จำนวน 150 ครัวเรือน จากทั้งหมด 401 ครัวเรือน พบว่าทั้ง 150 ครัวเรือน ใช้สารเคมีปลูกพืช เช่น ข้าว หอมแดง กระเทียม ข้าวโพด ลำไย และผักชนิดต่างๆ พืชผลเหล่านี้มีทั้งส่วนที่ปลูกไว้บริโภคในครัวเรือนและจัดจำหน่าย ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าสารเคมีเฉลี่ย 25,308 บาท/ ปี/ ครัวเรือน หากรวมทั้งหมู่บ้านค่าใช้จ่ายซื้อสารเคมีสูงถึง 3,796,200 บาทต่อปี

แน่นอนว่า สารเคมีที่ใช้ในภาคการเกษตรส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด หนีไม่พ้นคนในชุมชนเอง

ข้อสรุปนี้ไม่ใช่การคาดเดา แต่ยืนยันด้วยสถิติผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 89 ราย โรคเบาหวาน 98 ราย โรคมะเร็ง 2 ราย กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคความดันและเบาหวาน 320 ราย และมีสารพิษหรือสารเคมีในเลือด 250 ราย ในชุมชน


++ เมล็ดพันธุ์ที่งอกงามด้วยความร่วมมือ

กว่าจะได้ผลผลิตพืชผักอินทรีย์ให้เก็บกินและส่งออกขายภายในชุมชน นัท เล่าว่า พวกเขาได้วางแผนกระบวนการทำงาน ศึกษาข้อมูลการปลูกผักโดยไม่ใช้สารเคมีจากโครงการชุมชนน่าอยู่ที่กลุ่มผู้ใหญ่เคยทำไว้ ชี้แจงให้ผู้นำชุมชนและคนในชุมชนรับทราบถึงการทำโครงการของกลุ่มเยาวชนในเวทีประชาคมหมู่บ้าน แล้วเริ่มลงมือจัดสรรแปลงปลูก ไปพร้อมๆ กับการศึกษาดูงานเพิ่มเติมที่ “บ้านแวนนาริน” อ.ลี้ จ. ลำพูน (วิสาหกิจชุมชนคนพอเพียง) นอกจากนี้ พวกเขายังมีพี่เลี้ยงโครงการ วรรณทิภา ปัญญากรณ์ หรือ ครูดี เป็นกุนซือคนใกล้ชิดที่สามารถขอคำปรึกษาเรื่องการปลูกผักอินทรีย์ได้ เนื่องจากครูดีมีความรู้และทำแปลงเกษตรอินทรีย์ด้วยตัวเองอยู่ก่อนแล้ว

ส่วนตัวนัท แม้พอมีความรู้เรื่องการปลูกผักอยู่บ้าง เพราะเติบโตมาในครอบครัวที่ทำการเกษตร แต่นัท บอกว่า พวกเขาต้องผ่านอุปสรรคมากมายพอสมควร หนึ่งในนั้น คือ ปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ ที่คาดไม่ถึง

“ขั้นตอนแรกที่ลงมือทำ คือ การบุกเบิกศูนย์เรียนรู้การปลูกผักปลอดภัยที่ผู้ใหญ่เคยทำไว้ พาเพื่อนๆ ไปทำความสะอาดพื้นที่ บริเวณนั้นมีแปลงผักเก่าๆ อยู่ประมาณ 4-5 แปลง พวกเราเลยได้เตรียมแปลง ปลูกผักเพิ่มให้แตกต่างจากเดิม ช่วงวางแผนโครงการยังไม่ใช่หน้าร้อน ทำให้ไม่ทันคิดถึงเรื่องน้ำที่จะนำมาใช้รดผัก เพราะในพื้นที่ศูนย์มีบ่อน้ำบาดาลไว้สำหรับใช้น้ำอยู่แล้ว ถึงไม่ได้มีเหลือเฟือแต่ประเมินแล้วว่าพอสำหรับการปลูกผักในโครงการ ปรากฏว่าพอเข้าหน้าร้อนจริงๆ น้ำขาดแคลน สูบขึ้นมา 5-10 นาทีน้ำหมดบ่อ”

“ครูดีแนะนำให้ปลูกผักกาด ผักบุ้ง ที่น่าจะอยู่รอดในช่วงฤดูตอนนั้น เป็นพืชที่ใช้น้ำไม่เยอะและดูแลง่าย แต่เพราะพื้นที่เป็นดินปนทรายทรายแบบทรายดำด้วย ยิ่งทำให้ต้องใช้น้ำเยอะ” นัท กล่าว

เมื่อการปลูกผักที่มีน้ำเป็นปัจจัยหลักในการเจริญเติบโต ประสบปัญหาด้วยสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย พืชผักกว่าครึ่ง ทั้งกะเพรา ผักกาด ผักบุ้ง แห้งเหี่ยว ร่อแร่เพราะขาดน้ำ กลุ่มเยาวชนจึงพลิกสถานการณ์หันมาเพาะเห็ดโคน ด้วยการซื้อก้อนเชื้อเห็ดมาดูแล แต่แล้วต้องหาทางตั้งรับกับ“เชื้อรา” ในเห็ดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ครอบครัวของนัทเข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์เอาไว้ได้

“ซื้อหัวเชื้อเห็ดเป็นก้อนมาก่อน แล้วเอามาวางเปิดถุงไว้ พรมน้ำให้พอชุ่มชื้น จากนั้นก็อาศัยเวลา และความร้อนชื้น รอเห็ดออกผลผลิต ดูเหมือนน่าจะไปได้ดี แต่วันที่สองที่สามเริ่มมีราขึ้น ซึ่งพวกเราไม่รู้วิธีการดูแล พ่อผมเห็นท่าไม่ดีเลยเข้ามาช่วย ปรับใหม่มาทำโรงเพาะขนาดใหญ่ขึ้น แล้วใช้กองฟางกองใหญ่เพาะเชื้อแทน เลยรอดพ้นจากเชื้อรามาได้

หลังจากนั้นประมาณสองอาทิตย์ ฝนเริ่มตกลงมา พวกเรานำความรู้ที่ได้จากการไปดูงานมาช่วยกันต่อระบบน้ำใหม่ คราวนี้ทุกอย่างก็คลี่คลาย” นัท อธิบาย

นัท กล่าวว่า ท่ามกลางอุปสรรคในการทำโครงการ ทั้งเรื่องการหาเวลาว่างจากการเรียน และสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ พวกเขาโชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใกล้ตัว จึงทำให้มีกำลังใจในการทำโครงการต่อ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวของนัทที่เข้ามาช่วยดูแลแปลงผักในช่วงเวลาที่กลุ่มเยาวชนไม่สามารถจัดสรรเวลาจากการเรียนได้ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นผู้ปกครองของสมาชิกในกลุ่มที่ให้ความสนใจส่งเสริม และยังสนับสนุนให้เยาวชนต่อยอดเรื่องการเลี้ยงสัตว์ และชาวบ้านในชุมชนที่แวะเวียนนำเมล็ดพันธุ์พืชผักมาให้กลุ่มเยาวชน

“เดิมทีวางแผนกันว่าปลูกแค่ผักเท่านั้นครับ คิดว่าปลูกไม่กี่ชนิดเพราะพื้นที่มีไม่เยอะ แต่พอเริ่มไม่ประสบผลสำเร็จจึงพลิกแพลงให้อยู่รอดให้ได้ หลังจากนั้นทุกอย่างเริ่มดีขึ้น ฝนตกมีน้ำใช้เยอะขึ้น ได้ขยายพื้นที่เพื่อปลูกผัก ปลูกพืชไม้เลื้อย ปลูกข้าว และพืชผอื่นๆ จากนั้นผลผลิตเยอะขึ้น สามารถนำไปขายที่ตลาด ขายให้คนในชุมชน บางคนมาติดต่อขอซื้อถึงในแปลง คนในชุมชนหันมาบริโภคผักปลอดสารพิษ ที่ซื้อจากศูนย์ของเราเยอะขึ้น แทนที่จะไปซื้อที่อื่น ซึ่งมีสารตกค้าง ฉีดเพื่อให้สวย น่ากินและดึงดูด ตอนนี้แปลงของเราเลยขยายใหญ่ขึ้นเยอะ มีบ่อเก็บน้ำ และเลี้ยงสัตว์ด้วย เช่น ปลา กบ ไก่และหมู” นัท อธิบาย”


++ รู้เท่าทัน ระดับความปลอดภัยของพืชผัก

โครงการปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมี เน้นการปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ กล่าวคือ ไม่ใช้สารเคมีไม่ว่าจะเป็นยาฆ่าแมลง ฮอร์โมนผัก หรือแม้กระทั่งปุ๋ยเคมี ซึ่งแตกต่างจาก ผักปลอดภัย" และ "ผักไร้สาร" (ปลอดสารพิษ)

ข้อมูลจากการสืบค้น พบว่า ความปลอดภัยของพืชผักที่วางขายในท้องตลาด ประเทศไทยมี 5 ระดับ ได้แก่ หนึ่ง ผักอนามัย คือ ผักที่มีตรามาตรฐานผักผลไม้อนามัย รับรองโดย กรมวิชาการเกษตร ปลูกแบบใช้สารเคมีแต่ควบคุม จึงอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง

สอง ผักปลอดภัย คือ ผักที่มีตรารับรองคุณภาพระบบตรวจสอบสารพิษ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ปลูกแบบใช้สารเคมีแต่ควบคุม เช่น ใช้ธาตุอาหาร ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต ทำให้ยังคงมีความเสี่ยงต่อสารพิษตกค้าง สาม ผักไร้ดิน (ไฮโดรโพนิกส์) คือ ผักที่มีตรารับรอง GAP โดยกรมวิชาการเกษตรหรือไม่มีก็ได้ ปลูกในน้ำโดยใช้อาหารสังเคราะห์ทั้งเคมีและอินทรีย์ มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารไนเตรตตกค้าง และอาจไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง

สี่ ผักไร้สาร (ปลอดสารพิษ) คือ ผักที่ผ่านระบบ PGS (ชุมชนรับรอง) หรือไม่มีก็ได้ ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี แต่ไม่ใช่ในทุกขั้นตอนการปลูก อาจไม่ได้ควบคุมเรื่องเมล็ดพันธุ์ ระบบการจัดการ และการตรวจสอบย้อนหลัง จึงยังไม่ปลอดภัยจาก GMOs หรือปุ๋ย ยา และฮอร์โมนตกค้าง และ ห้า ผักอินทรีย์ คือ ผักที่ปลูกแบบไม่ใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิงทุกขั้นตอน ปลูกด้วยวัสดุจากธรรมชาติล้วนๆ ปลอดภัยจาก GMOs ปุ๋ย ยา และฮอร์โมน มีตรารับรองโดยเกษตรอินทรีย์ PGS มกอช. และ มกท. (IFOAM)

“ผมได้เรียนรู้เรื่องพืชผักว่าผักแต่ละชนิดที่ปลูก ปลูกอย่างไร ดูแลอย่างไร ใช้ปุ๋ยหมักพ่นแบบไหน ระดับความปลอดภัยของพืชผัก รู้วิธีดูแลและพัฒนาเรื่องการปลูกผักเกษตรอินทรีย์มากขึ้น ส่วนที่ได้พัฒนาตัวเองเพิ่มเติม คือความขยัน ความรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองต้องทำ สำหรับการทำงานในทีม เพื่อให้งานราบรื่นขึ้น คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนในการสละเวลา และรับผิดชอบในงานของตัวเอง ความเหนื่อยจะได้ไม่ตกที่ใครคนใดคนหนึ่ง ช่วยกันคนละไม้คนละมือ พัฒนาไปด้วยกันจนประสบความสำเร็จ”

“ผมจำได้ว่าตอนมีปัญหาแรกๆ ตอนนั้นไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน เป็นสภาพที่ไปไม่รอดแล้ว จนพ่อเข้ามาช่วยทำให้ปัญหาเริ่มคลี่คลายและกลับมามีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น หลังจากนั้นก็ทำงานต่อได้ ถ้ามีปัญหาอะไรเข้ามาอีก เราก็ต้องคิดหาทางแก้ไขให้ได้” นัท กล่าว


++ความฝันและพลังใจ

ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีก่อน เด็กผู้ชายคนหนึ่งจับพลัดจับผลูเข้าร่วมทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของชุมชน จนได้รื้อฟื้นทักษะการเล่นดนตรีพื้นเมืองที่มีอยู่ในตัว ทำให้ “ความมั่นใจ” ในตัวเองจึงถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง นัท บอกว่า ผลลัพธ์จากการทำโครงการในปีแรกสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เขา “ขยันขึ้น” “มีความรับผิดชอบ” และ “มีทักษะการทำงานในชีวิตจริง” มากขึ้น เขาจึงมุ่งมั่นทำโครงการต่อในปีที่สอง เพราะอยากพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นไปอีก

“เข้ามาทำโครงการแล้ว ผมได้เรียนรู้เรื่องการตัดต่อวิดีโอ โครงการสอนวิธีการใช้แอพตัดต่อคลิปจากมือถือ ซึ่งทำง่ายกว่าในคอมพิวเตอร์อีก ในโครงการผมได้ตัดต่อด้วย ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ เช่น การถ่ายวีดิโอ และการถ่ายภาพ เคยคิดทำช่องยูทูป เพื่อสร้างรายได้ พอดูยูทูปบ่อยก็มีช่องที่ชอบ ที่ป็นแรงบันดาลใจ เลยอยากทำ ว ผมชอบรายการ idol5 เป็นช่องที่ยูทูปเบอร์มาต่อยต่อสู้กัน ผมดูแล้วอยากปั้นช่องของตัวเองบ้าง และอยากไปต่อยมวยช่อง idol5 บ้าง เป็นความฝันอย่างหนึ่ง

วางแผนเริ่มจากให้เพื่อนติดตามก่อน พอทำเรื่อยๆ ก็จะมีคนมาดูเพิ่มขึ้น หลักๆ เราต้องมีจุดเด่นของตัวเอง เพื่อดึงดูดให้คนมาดูเยอะขึ้น และคิดเนื้อหาให้น่าสนใจ” นัท เล่าถึงสิ่งที่เขาตกผลึกจากการเรียนรู้ในโครงการ

การเล่นดนตรี การปลูกผักไร้สารเคมี โดยเฉพาะการเต้นโคฟเวอร์ที่กำลังหลงใหลมากในตอนนี้ ทั้งสามอย่างดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวข้องกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกัน คือ เขาทำทุกอย่างด้วย “ความชอบ” เพราะถ้าไม่ชอบ เขาไม่มีทางตั้งใจ ให้เวลา และใส่ความพยายามเข้าไปจนทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ และตอนนี้เขาก็ได้วางเป้าหมายเพื่อทำตามฝันต่อไป

“ก่อนผมเล่นดนตรี ผมมีความชอบอยู่ก่อนแล้ว ต้องชอบก่อนไม่ใช่ทำเล่นๆ ชอบเต้น cover ตอนเรียนชั้น ม.3 เห็นเพื่อนเต้นแล้วเท่ดี สาวๆ กรี๊ด จากนั้นก็เริ่มฝึก ส่วนความสนุกในโครงการมาจากความตื่นเต้นของเราที่ได้ตื่นมาดูแลพืชผักทุกเช้าเย็น มารดน้ำ มาดูว่ามีหนอนมากวนไหม แล้วจะแก้ไขอย่างไร จากที่เป็นคนไม่กล้าแสดงออก ก็กลายเป็นคนที่กล้าพูด กล้าทำ ผมมีความภูมิใจที่ได้ทำงานร่วมกับคนในชุมชน ช่วยพัฒนาชุมชน ได้ฝึกทักษะตัวเอง และทำให้ผมรักชุมชนของตัวเองมากขึ้น ถึงผมจะไม่ได้อยู่ในชุมชน ผมก็อยากเห็นรุ่นน้องเข้ามาสานต่อ ทำโครงการอื่นๆ เพื่อชุมชนต่อไปอีก

สำหรับตัวผมเองมีคุยกับเพื่อนว่าเรียนจบอยากหาโอกาสไปทำงานที่เกาหลีเพราะเป็นความชอบ ไปเห็นสิ่งใหม่ๆ โลกใหม่ๆ จากที่อื่น ขอไปตามหาฝันก่อน เพราะผมคิดว่าถ้าไม่ตามหาฝันหรือทำสิ่งที่ชอบ ทำอย่างอื่นคงยากที่จะประสบความสำเร็จ” นัท กล่าวทิ้งท้าย

++++++++++++++++++