พิยดา ฮะอุรา
แกนนำเยาวชนอนุรักษ์พันธุ์ไม้และพืชท้องถิ่น จังหวัดสตูล
ประวัติและผลงาน

เยาวชนเด่น โครงการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวตำนาน สถานที่สำคัญและประเพณีของบ้านควน ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

ชื่อเรื่อง : กุ้ง-พิยดา ฮะอุรา เอาชนะความกลัวด้วยการทำสิ่งที่กลัวอยู่บ่อยๆ


“ปีแรกที่ทำโครงการเราจับไมค์แล้วก็ร้องไห้เลยเพราะกลัวมาก แต่ถ้าเป็นตอนนี้สามารถพูดได้ คนเป็นร้อยก็พูดได้ ถ้าเขาบอกว่าตัวแทนออกมาพูดหน่อย กุ้งมั่นใจว่าพูดได้อยู่แล้ว ถ้าวันนั้นเราไม่ทำโครงการก็คงอยู่เป็นเด็กท้ายห้องเหมือนเดิม ไม่กล้าออกมาพูด มาทำอะไรแบบนี้” คำพูดที่บอกถึงความมั่นใจในตัวเองของ กุ้ง-พิยดา ฮะอุรา อายุ 19 ปี ตัวแทนเยาวชนที่มีตำแหน่งพี่เลี้ยงพ่วงท้าย จากโครงการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวตำนาน สถานที่สำคัญและประเพณีของบ้านควน ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

กว่าที่กุ้งจะมั่นใจว่าสามารถพูดต่อหน้าคนเป็นร้อยได้แบบนี้ กุ้งเป็นเหมือนเด็กคนอื่นๆ ทั่วไปที่ขี้อาย เป็นเด็กท้ายห้อง ที่ไม่ว่าใครทำกิจกรรมอะไร เธอขออยู่เงียบ ๆ ข้างหลัง ชอบเก็บตัวอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ของตัวเองมากกว่าการออกไปร่วมสังคมกับเพื่อนๆ จนเมื่อได้มาเจอกับ โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชน จังหวัดสตูล หรือ Satun Active Citizen ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง


++ เอาชนะความกลัว ด้วยการหมั่นทำบ่อยๆ ++

กุ้งเคยเรียนอยู่ประเทศมาเลเซียกว่า 3 ปี มีความรู้และความชื่นชอบด้านภาษาทำให้อยากต่อยอดการเรียนด้านการท่องเที่ยว หลังเรียนสายอาชีพมาแล้วในระดับ ปวช. จึงเลือกเรียนสาขาการท่องเที่ยวในระดับชั้น ปวส. ที่วิทยาลัยชุมชนสตูล และเลือกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนบ้านควน ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้กุ้งได้เข้ามารู้จักกับ บังปิง-อับดุลอาสีด หยีเหม เจ้าหน้าที่โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล นอกจากนี้ เธอยังบอกว่าชอบทำกิจกรรมจิตสาธารณะ เพราะทำแล้วมีความสุข โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงไม่ปฏิเสธเมื่อถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 2 ปีก่อน อย่างไรก็ตาม ความชอบที่ว่านี้จะว่าไปก็ตรงข้ามกับความขี้อายและนิสัยชอบเก็บตัวของกุ้งอยู่ไม่น้อย

“ก่อนเข้าร่วมโครงการ เราเคยทำงานกับผู้ใหญ่เกี่ยวกับท่องเที่ยวชุมชนมาก่อน แล้วได้ร่วมเข้าประชุม

เป็นเยาวชนคนเดียวของชุมชนบ้านควนที่เข้าร่วมเวทีในครั้งนั้น บังปิงเห็นเลยให้ลองพูด กุ้งบอกว่าไม่พูดเพราะไม่เคยพูดมาก่อน เขาบอกว่าเราทำได้อยู่แล้ว แต่ก่อนเป็นคนที่ถ้ามีไมค์อยู่ตรงหน้าจะสั่นและร้องไห้ทันที เป็นเหตุการณ์ที่จำได้ทุกวันนี้ว่าเคยเป็นคนที่ร้องไห้ตอนจับไมค์มาก่อน จนตอนนี้แอบตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่า ทำไมวันนั้นถึงร้องไห้ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรขนาดนั้น”

“เวลาทำงานอาสา เราก็มีโอกาสพูด แต่มีความตื่นเต้นอยู่ผสมกับความกลัวอยู่ ทั้งอยากจะทำและยังกลัวอยู่ ทำให้บางทีทำงานออกมาแล้วมันไม่เต็มที่เท่าไหร่”

กุ้งคาดหวังว่าการเข้าร่วมโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชน จังหวัดสตูลจะทำให้เธอเป็นคนกล้าแสดงออกมากขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้และการทำกิจกรรมต่าง ๆ โครงการเป็นเครื่องมือที่ดึงเธอออกจากห้องเล็ก ๆ ที่เคยอยู่ให้ออกมาเจอโลกกว้าง ได้ลองทำในสิ่งที่เธอไม่เคยทำ และได้ทำในสิ่งที่เคยคิดว่าน่าจะทำได้ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำมาก่อน

โครงการเกี่ยวกับการศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ริมคลองของชุมชนบ้านควน คือโครงการที่เธอร่วมกับน้อง ๆ ในชุมชนอีก 5 คนตัดสินใจทำในปีก่อนนี้ การทำงานช่วงแรก ๆ ค่อนข้างเครียดเพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าโครงการคืออะไร มีอะไรบ้าง แล้วต้องทำอย่างไร รู้แค่ว่าทำโครงการอะไรก็ได้ที่สามารถนำมาพัฒนาชุมชน

หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมบ่อยขึ้น ผ่านเวทีอบรมต่างๆ กุ้งเริ่มเข้าใจความหมายของการทำโครงการ และค่อยๆ พัฒนาความกล้าแสดงออกของตัวเอง กระบวนทำงานในโครงการสนใจศึกษาและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ริมคลองของชุมชนบ้านควน จากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจากผู้รู้ในชุมชน การลงไปพบปะกับผู้คนในชุมชน เพื่อเก็บข้อมูลมีส่วนส่งเสริมให้เธอกล้าพูด ยิ่งลงพื้นที่บ่อยครั้งยิ่งทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น นอกจากนี้ เมื่อกลุ่มเยาวชนเปิดตัวเองเข้าหาชุมชน ความสัมพันธ์ของกลุ่มเยาวชนและคนในชุมชนก็เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่คนในชุมชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ค่อยทักทายหรือพูดคุยกัน อยู่บ้านใครบ้านมัน ผู้ใหญ่บางคนเริ่มหันมาทักทายและให้ความสำคัญกับเยาวชนมากขึ้น เด็กๆ รวมกลุ่มกันเล่นและทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น

“ในปีแรกผู้ใหญ่เห็นสิ่งที่เด็กทำเป็นเรื่องตลกเสียมากกว่า หน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่เห็นด้วย แต่พอปีที่สอง เยาวชนได้เข้ามามีบทบาทในชุมชนมากขึ้น ให้เด็กไปช่วยกิจกรรม ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ในส่วนโครงการปีแรกเราได้รู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ต้นไม้ในชุมชน จากที่เคยขี่รถผ่านไปวัน ๆ ตอนนี้เราจักพันธุ์ไม้ รู้สรรพคุณและการใช้ประโยชน์ของตัวพันธุ์ไม้แต่ละชนิด ต้นไหนเหลือน้อย ต้นไหนมีมาก ต้นไหนหายาก เราใส่ใจสิ่งรอบตัวมากกว่าเมื่อก่อน”

แม้กล้าพูดมากขึ้น แต่กุ้งยอมรับว่าการพูดของเธอยังขาดทักษะการเรียบเรียงคำพูดก่อนหลัง บางครั้งยังไม่สามารถจับใจความสำคัญในสิ่งที่คนอื่นพูด แล้วนำมาถ่ายทอดต่อได้ จึงต้องอาศัยพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

“แต่ก่อนเขาให้พูดอะไรพูดได้หมดแต่เป็นการพูดที่ไม่ได้ผ่านการเรียบเรียงคำพูดออกมา คิดอะไรก็พูดเลย ทำให้บางครั้งพอพูดออกไปคนฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่พูด เวลาล้อมวงเพื่อสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเวทีร่วมกันรายคน กุ้งแอบสังเกตว่าหลายคนในวงเมื่อเขาสะท้อนการเรียนรู้จบมีแต่คนชื่นชม แต่พอมาถึงกุ้งพูดบ้างทุกคนเงียบ เราแอบคิดว่าทำไม เราพูดไม่รู้เรื่องหรือว่าเขาไม่เข้าใจ พอเริ่มทำงานปีสองเวลาพี่ๆ ตั้งคำถามมาเราจะคิดก่อนว่าจะพูดอย่างไร พยายามปรับตัวเองใหม่ด้วยการทบทวนคำถามก่อน แล้วค่อยพูดออกไป ช่วยให้เรียบเรียงคำพูดได้ดีขึ้น คนฟังเข้าใจในสิ่งที่เราพูดมากขึ้น พอลองใช้วิธีนี้ รู้สึกดีใจที่เขาไม่ได้เงียบเหมือนเมื่อก่อน แต่ตอบรับในสิ่งที่เราพูด” กุ้งสะท้อน


++ ความเชื่อมั่นและความไว้วางใจเป็นปัจจัยความสำเร็จ ++

หลังจากจบโครงการปีที่หนึ่งกุ้งพบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทักษะการพูด และความกล้าแสดงออก ทำให้เธออยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้นด้วยการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการต่อในปีที่สอง

เธอและเพื่อนตัดสินใจทำ โครงการสื่อสารประวัติศาสตร์ผ่านเรื่องราวตำนาน สถานที่สำคัญและประเพณีของบ้านควน เพราะเห็นว่าชุมชนบ้านควนเป็นชุมชนเก่าแก่อีกชุมชนหนึ่งในจังหวัดสตูล อีกทั้งยังมีผู้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน ที่เป็นผู้สูงอายุซึ่งยังมีชีวิตอยู่ในชุมชน รู้อย่างนี้แล้วกลุ่มเยาวชนยิ่งอยากรู้เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนของตนเองมากขึ้น

แม้ข้อมูลด้านประวัติศาสตร์ชุมชนมีอยู่บ้างตามหนังสือ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เธอพาน้อง ๆ ลงพื้นที่เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเทอร์เน็ต การทำโครงการในปีที่สอง กุ้งกลายเป็นพี่คนโตในกลุ่ม และต้องรับผิดชอบงานมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะขยับตัวเองจากรุ่นพี่ในทีมกลายมาเป็นพี่เลี้ยงในโครงการ

“บทบาทของกุ้งเปลี่ยนไป ตอนแรกแต่อาศัยทำกิจกรรมในโครงการร่วมกับน้อง ๆ ไม่ใช่กุ้งทำอยู่แล้วน้องไม่ทำ ไม่ได้แยกกันแบบนั้น ทำไปด้วยกัน ทำให้น้องเรียนรู้งานได้ง่ายและเร็วขึ้นด้วย ส่วนช่วงหลังเน้นดูแลน้องอยู่ห่าง ๆ ไม่ได้ลงเข้าไปทำกิจกรรมกับน้องสักเท่าไหร่ ให้เขาได้ทำกันเอง”

ครั้งแรกที่ลงพื้นที่กุ้งเลือกทำหน้าที่เป็นคนสัมภาษณ์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนจากผู้สูงอายุด้วยตัวเอง และให้น้อง ๆ ในทีมคอยจดบันทึกข้อมูลที่ได้ บันทึกวิดีโอเก็บไว้ใช้เป็นข้อมูล เธอบอกว่าที่เลือกเป็นคนสัมภาษณ์ข้อมูลเอ งเพราะสมาชิกในทีมส่วนใหญ่ยังไม่กล้าพูด มีความเขินอาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่ต่างจากกุ้งในสมัยก่อน ทำให้ต้องใช้วิธีการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ก่อนปล่อยให้น้องๆ ลงสนามสัมภาษณ์ด้วยตัวเองในครั้งถัดไป ซึ่งน้องๆ ก็ทำออกมาได้ดี

แม้ระหว่างดำเนินโครงการ มีเหตุจำเป็นให้กุ้งต้องไปฝึกงานอยู่ที่เกาะหลีเป๊ะเป็นเวลา 2 เดือน ช่วงนั้นเธอไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ในทีมได้ แต่อาศัยคอยติดตามความคืบหน้ากิจกรรมอยู่ห่างๆ อีกทั้งคอยทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างน้องในทีมและทีมเจ้าหน้าที่โครงการส่วนกลาง

กุ้ง เล่าว่า ระยะทางที่ห่างไกลกันไม่ได้ทำให้กลัวหรือกังวลใจ เพราะมั่นใจในตัวน้อง ๆ ว่าสามารถรับผิดชอบโครงการได้ตามแผนงานที่วางไว้แล้ว

“ก่อนหน้าวางมือให้น้อง ๆ เป็นคนทำโครงการเราเห็นความเปลี่ยนแปลงของน้อง ๆ แต่ละคนแล้วว่าเขากล้าพูดมากขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถทำงานกันได้ บวกกับน้อง ๆ มีอายุไล่เลี่ยกันเป็นเพื่อนกัน ทำให้การทำงานไม่ได้แบ่งแยก แต่คือการทำงานร่วมกัน น้องๆ เต็มที่กับกิจกรรมที่เขาวางแผนไว้” กุ้งบอกถึงเหตุผลที่ทำให้เธอมั่นใจในตัวน้องๆ ในทีม ก่อนเล่าต่อว่า ไม่เฉพาะตัวเธอที่มั่นใจในตัวแกนนำโครงการเท่านั้น แต่พวกเขาก็มั่นใจในการทำงานของตัวเองด้วยเช่นกัน เพราะได้เห็นศักยภาพของตัวเองจากการทำงานร่วมกันเป็นทีมได้

“เขาทำงานเป็นทีมกันได้ เขาเห็นศักยภาพของตัวเองและสามารถ

ทำงานได้เลย บวกกับมีความชอบในการทำงานแบบนี้ด้วย ทำให้

เขาทำได้ ไม่มีความกลัวเวลาเราไม่อยู่ในพื้นที่”


++ ประสบการณ์คือบทเรียนของการทำงาน ++

แม้วางแผนงานทุกอย่างไว้อย่างดี แกนนำเยาวชนมีความเป็นทีมเวิร์คที่หนักแน่น แต่สิ่งที่ทำให้กุ้งลำบากใจ คือ เรื่องความเข้าใจในการสื่อสารเพื่อการทำงานร่วมกัน กุ้ง เล่าว่า บ่อยครั้งที่เธอและน้องในทีมสื่อสารกันคลาดเคลื่อน ทำให้เข้าใจผิดพลาดซึ่งนำไปสู่ความขุ่นเคืองใจระหว่างกัน กุ้งแก้ไขเรื่องนี้ด้วยการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทุกคน แล้วค่อย ๆ ปรับความเข้าใจร่วมกัน

“ก่อนหน้านี้เป็นคนอารมณ์ร้อนมาก ไม่ค่อยยอมคน การที่ได้มาทำโครงการนี้สอนให้เราควบคุมตัวเองได้ ควบคุมสติได้ สอนให้เป็นคนใจเย็น พูดถึงตอนนี้เป็นคนใจเย็นลงมากจากเมื่อก่อน พอเกิดความไม่เข้าใจกัน เราจะเรียกน้องๆ มารวมตัวกันทุกคนแล้วให้พูดความรู้สึกรายคนเลยว่า คนนี้มีความรู้สึกอย่างไรให้จบกันภายในวงใช้วิธีการพูดคุยกันเพื่อปรับความเข้าใจกัน”

บทเรียนนี้เป็นสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์มาจากการทำโครงการตั้งแต่ปีแรก เมื่อเจอปัญหาเดิมอีกครั้ง กุ้งจึงนำบทเรียนมาปรับใช้กับเหตุการณ์ในปีที่สองอย่างมีสติ

“ปีแรกอาจเพราะกุ้งหวังเยอะ หวังมากทำให้มีช่วงแตกหักก่อนจะสำเร็จ ปีแรกหนักกว่าปีที่สองถึงขนาดไม่พูดคุยกันเลย แยกเป็นสองฝ่ายแล้วทำให้กว่าจะมาคุยกันได้อีกครั้งต้องใช้เวลานานมาก เป็นเพราะต่างคนต่างไม่เข้าใจกัน พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกเหมือนประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจากปีที่แล้ว เรารู้แล้วว่าสิ่งแรกที่ต้องทำคือปรับความเข้าใจก่อนที่จะสายเกินไป”

“ตัวเราเองก็หันกลับมาดูตัวเองว่าเราผิดพลาดอะไรหรือเปล่า ทำไมน้องเขาฟังคนอื่นมากกว่าเรา เราไม่ดีหรืออย่างไร ตอนแรกคิดลบหมดเลยคิดว่าไม่เหมาะสมแล้วที่จะมาดูแลน้อง แต่พอผ่านเราเข้าใจว่าไม่ใช่เราไม่ดี แต่น้องๆ มีความคิดของเขา ที่ตัวเราเองอาจไม่ยอมรับหรือเปล่า เลยนำมาสู่ความคิดว่าถ้าเรามาแลกเปลี่ยนกันมาปรับความเข้าใจกัน เราก็ทำงานด้วยกันได้ จากเหตุการณ์ความไม่เข้าใจกันภายในทีมที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ทำให้ได้เรียนรู้ว่าถ้าเราลองเปิดใจรับฟังกันทั้งสองฝ่าย จะทำให้ปัญหาที่เจอเล็กลงมาก กลายเป็นเรื่องเล็กน้อยและจะไม่เกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีก การจะมาเป็นผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นคนชี้นำคนเสมอ ผู้นำจะต้องเป็นผู้ฟังที่ดีด้วย”


++ประวัติศาสตร์บ้านควนกับการประยุกต์ใช้ในวิชาเรียน++

ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดสตูล มีเอกลักษณ์ด้านการแต่งกายและภาษา คนในชุมชนพูดมลายูแบบดั้งเดิม ซึ่งเป็นภาษามาลายูกลางคล้ายกับประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะงานประเพณีและการละเล่นในท้องถิ่นที่ชุมชนอาจใช้ภาษาไทย แต่ชุมชนบ้านควนใช้ภาษามลายูเป็นหลัก การแต่งกายผู้หญิงใส่ชุดย่าหยาและชุดกูรง ลักษณะคล้ายกัน คือ มีเสื้อลูกไม้ท่อนบน และกระโปรง หรือ โสร่งท่อนล่างลวดลายดอกไม้ นอกจากนี้ยังมีบ้านไม้โบราณอายุ 170 ปี ที่ยังมีคนอยู่อาศัย บ้านทั้งหลังก่อสร้างขึ้นโดยไม่ใช้ตะปูเลย

กุ้งแนะนำหมู่บ้านตัวเองอย่างคล่องแคล่ว คล้ายกับเธอกำลังสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวชุมชนบ้านควน บ้านเกิดของเธอ

“ในปีที่สองได้ทั้งตัวข้อมูลที่เห็นเป็นรูปธรรม ได้รู้ว่าประวัติศาสตร์บ้านควนเป็นมา

อย่างไร มีตระกูลอะไรบ้างมาบุกเบิก ในเรื่องของอาหารการกิน ประเพณีต่างๆ รู้หมดเลยว่าบ้านควนมีประเพณีนี้มาก่อนแล้วไม่มีแล้วในตอนนี้ สถานที่สำคัญมีบ้านร้อยปี เป็นปอเนาะแห่งแรกของจังหวัดสตูล พวกเราได้ทำเป็นป๊อบอัพเล็ก ๆ ที่สามารถให้คนนอกที่ไม่ได้อยู่ในชุมชนได้มาศึกษา มีเรื่องสถานที่สำคัญ การแต่งกาย อาหาร ประเพณี ในออนไลน์ทำเป็นเพจขึ้นมาด้วย เพื่อลงข้อมูลต่างๆ”

ปีแรกยังไม่เห็นความร่วมมือจากผู้ใหญ่แต่พอปีนี้ เกินคาดทั้งตัวโครงการและตัวน้องเอง ศักยภาพของน้องๆ เพิ่มขึ้น สามารถถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน และในช่วงที่ทำโครงการได้ทำกิจกรรม ได้ไปออกบูธ นำเสนองานภายในชุมชนตาม อบต. น้อง ๆ แต่ละคนที่ทำโครงการสามารถถ่ายทอดส่งต่อข้อมูลให้กับคนอื่นได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้ผู้ใหญ่ให้ความร่วมมือมากขึ้นในปีที่สอง เพราะเขาได้เห็นตัวตนของน้องๆ เห็นศักยภาพ น้องๆ ก็เรียนรู้และสนุกไปกับมัน”

การเรียนรู้จากการลงมือคิดลงมือทำด้วยตัวเอง ไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับการทำโครงการเท่านั้น เมื่อเรียนต่อในระดับสูงขึ้น กระบวนการคิด วิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล การวางแผนการทำงาน รวมถึงการเขียนแผนงาน กุ้งสามารถนำทักษะเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนของเธอได้เช่นกัน

“เรารู้ว่าอาจารย์ให้ทำงานเรื่องนี้ เราสามารถนำกระบวนการศึกษาเก็บข้อมูลจากโครงการมาทำงานส่งอาจารย์ได้ ศึกษาข้อมูลก่อนแล้วนำมาเรียบเรียงเป็นรายงานอีกที ทำให้ง่ายในการทำงานมากขึ้น เวลาอาจารย์แบ่งทำโครงงาน ทำวิจัยต่างๆ หนูเป็นคนหนึ่งเลยที่สามารถทำได้ สามารถอธิบายให้เพื่อน ๆ ฟังได้”

“เราเรียนท่องเที่ยวแล้วต้องเรียนเกี่ยวกับชุมชน รู้สึกว่าเราสามารถพูด สามารถถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ได้รับรู้ได้ว่าชุมชนเราเป็นอย่างไร วิชาจังหวัดศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับจังหวัดเลย กุ้งนำประวัติของ

ชุมชนบ้านควนมาประยุกต์ในวิชาถ่ายทอดให้เพื่อนฟัง ทั้ง ๆ ที่เพื่อนอยู่ชุมชนตัวเองแต่กลับไปเล่าเรื่องของชุมชนอื่น เรารู้สึกภูมิใจที่ได้มาอยู่ในจุดนี้แล้วทำให้ตัวเองได้รับรู้ข้อมูลมากกว่าคนอื่น”

การได้รับรู้ข้อมูลของชุมชนสร้างผลกระทบเกินกว่าที่คาด เพราะไม่เพียงแค่ทำให้ได้รู้เรื่องราว ความเป็นมาในชุมชนเท่านั้น แต่ทำให้เด็กและเยาวชนมีทัศคติที่ดีขึ้นต่อชุมชนและอัตลักษณ์ของตัวเอง

“เราได้รู้ในสิ่งที่ไม่ได้รู้จากการศึกษาด้วยตัวเอง รู้สึกภูมิใจที่ได้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชนของตัวเอง พอเรารู้เรื่องการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ น้อง ๆ ในโครงการก็หันมาใส่ชุดสมัยก่อนเป็นผ้าที่สวยมาก เราจะใช้ชุดแบบนี้ใส่ไปชุมชนอื่น ไปหาเพื่อน ๆ ชุมชนอื่น เขาจะเห็นว่าชุมชนบ้านควนมีความสามัคคีกัน”

“การทำโครงการในปีที่สอง ทำให้พบว่าเราได้พัฒนาตัวเองจากเดิมมาก ครั้งหนึ่งได้ไปเข้าค่ายของทางวิทยาลัย เราเป็นรุ่นพี่ในค่ายที่อาสามาทำกิจกรรมร่วมกับน้อง ๆ สิ่งที่ไม่คาดคิดในค่ายนั้นคือมีรุ่นน้องหลายคนเข้ามาบอกกับเราว่า เขาเห็นเราเป็นพี่ที่เก่งคนหนึ่งเลย เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะมีคนมาชื่นชมในตัวเรา พอน้องเข้ามาบอกแบบนั้น รู้สึกตกใจเพราะไม่คิดว่าจะเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้”

ความรู้ที่ได้รับจากการลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลประวัติของชุมชนทำให้กุ้งเห็นความสำคัญและหลงรักชุมชนของตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม และความเข้าใจผู้อื่นช่วยเปลี่ยนคนใจร้อนให้กลายเป็นคนใจเย็นและมีสติกับปัจจุบันมากขึ้น

ถ้าวันนั้นหนูไม่ทำโครงการหนูก็คงอยู่เป็นเด็กท้ายห้องเหมือนเดิม ไม่กล้าพูด หรือออกมาทำอะไรแบบนี้แน่นอน...”

//////////////