ธัญวรินทร์ หวังดี
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตรัง
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
เยาวชนแกนนำ ใน มหัศจรรย์พันธุ์หอย
ประวัติและผลงาน

นายธัญวรินทร์ หวังดี (น๊านนาน)

ปัจจุบัน : ทำธุรกิจส่วนตัว

­ความโดดเด่น :

  • เป็นผู้นำที่มีทักษะการฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจสมาชิก เปิดพื้นที่ให้น้องสมาชิกได้เรียนรู้
  • มีความคิดสร้างสรรค์ และใช้ศักยภาพด้านนี้ในการออกแบบกิจกรรมที่สนุก มีส่วนร่วม
  • เข้าใจตัวเอง เข้าใจชุมชน ทำให้การทำกิจกรรมลื่นไหล เป็นไปตามแผนการที่วางไว้

       นาน ธัญวรินทร์ หวังดี รับหน้าที่หัวหน้าโครงการของ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นการทำโครงการครั้งแรกของนาน ก่อนหน้าทำโครงการนานเป็นคนเก็บตัว ไม่กล้าแสดงออก เพราะถูกเพื่อนล้อ รังแก ทำให้ไม่กล้าเข้าสังคม ติดอ่านนิยายออนไลน์ อยู่บ้าน มีโลกส่วนตัวสูงด้วย หลังจากที่นานได้แสดงละครสั้น ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวัฒนธรรมของหมู่บ้าน จ๊ะแหวน (พี่เลี้ยงโครงการ) จึงชวนเข้ามาร่วมโครงการ หลังเข้าค่ายอบรมของ Active Citizen ทัศนคติที่มีต่อตัวเองเริ่มเปลี่ยนไป กล้าคิด กล้าพูด มากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นานเริ่มเปลี่ยนตัวเอง นานเริ่มเสพสื่อที่มีประโยชน์ต่อตัวเองและประทับใจประโยคหนึ่งที่กล่าวว่า “เราจะไม่มีปมด้อย ถ้าเราคิดว่าตัวเองไม่มีปมด้อย”

       เวลาที่เหมาะสมทำให้คนบางคนพลิกโลกที่ตัวเองแบกไว้ เพื่อเสี้ยวเวลา นานเป็นหนึ่งในนั้น ช่วงวัยที่เติบโตขึ้น การเห็นคนอื่น ได้ทำกิจกรรม ทำให้นานมีวุฒิภาวะขึ้น พอทำกิจกรรมอะไรก็เกิดข้อค้นพบการเรียนรู้ที่ส่งผลต่อพลังงานเชิงบวกในตัวเอง มุมมองที่มีต่อคนอื่นก็เปลี่ยนไป ไม่ตัดสิน รับฟังจนจบ ไม่พูดแทรก ด้วยอายุที่ห่างกันมากถึง 10 ปี ของสมาชิกในโครงการ นานเริ่มสังเกตน้อง ๆ เห็นศักยภาพในตัวน้อง

       “เราเห็นทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวเราทุกวันจนชิน เราไม่เห็นคุณค่า จนเรามารู้ข้อมูลที่มาที่ไปของทรัพยากรในชุมชน ทำให้เราเห็นคุณค่าและความหมายจากสิ่งที่เรามีชัดเจนมากขึ้น” นานสะท้อนถึงชีวิตที่ผ่านมา ที่เพียงเห็นแต่ไม่รู้คุณค่า การได้สืบค้น ลงพื้นที่ ลงทะเลหาหอย นั่งเรือออกไปหาหอยข้างนอกหมู่บ้าน การได้เห็นป่าโกงกาง การได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการคิดเมนูอาหารใหม่ ๆ นำหอยมาแปรรูป ทำปฏิทินหอยและแผนผังน้ำขึ้นน้ำลงสำหรับการหาหอย ทำให้นานเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน และเห็นศักยภาพในตัวเอง

       ความเป็นผู้นำของนาน คือการบริหารจัดการสมาชิกให้ตรงต่อเวลา แบ่งเวลาให้ชัดเจน มีความรับผิดชอบต่องานที่ดูแล กลยุทธ์ของนานคือการให้กลุ่มเข้ามาช่วย เพื่อให้น้องที่ช้า ตื่นตัวรับผิดชอบในส่วนที่ตัวเองดูแล ความท้าทายของนานคือการทำให้คนในชุมชนเชื่อใจ ให้ข้อมูล คนในชุมชนคิดว่าเยาวชนทำเล่น ๆ จึงไม่ให้ข้อมูล แต่นานใช้ความอดทน สอบถาม บันทึก จนคนในชุมชนเห็นถึงความตั้งใจ

       นานพัฒนาทักษะการสื่อสาร การจับประเด็น ไม่ใช่เพียงฟังผ่าน ๆ แต่สามารถจับใจความได้ดีขึ้น นานสนุกกับการทำโครงการมาก เพราะได้คิดสร้างสรรค์และเห็นศักยภาพด้านนี้ของตัวเองในการออกแบบกิจกรรมที่สนุก ให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม อนาคตนานอยากเปิดร้านอาหารโดยตัวเองเป็นเชฟ ประสบการณ์การทำโครงการฯ จะช่วยสานฝันที่นานอยากทำ นานเรียนรู้ที่จะอดทน วางแผน การกล้าเปิดใจรับฟังข้อติชม นานวางแผนต่อยอดโครงการฯ จะทำโครงการที่เชื่อมโยงคนที่อยู่ติดทะเล และอยู่ในสวนให้ใกล้ชิด แบ่งปัน นำอาหารมาแลกเปลี่ยนกัน ฟื้นฟูวิถีชีวิตของคนสมัยก่อนให้กลับมา โดยใช้ชื่อว่า “หอยบ้านฉันผักหวานบ้านเธอ” และอยากศึกษาข้อมูลเรื่องหอยรอบด้านมากขึ้น เช่นเรื่องความเป็นอยู่ของหอย ซึ่งข้อมูลตรงนี้ไม่สามารถสอบถามจากคนในชุมชนหรือหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตได้ นานคิดว่าการศึกษาเพิ่มเติมจะช่วยสนับสนุนเรื่องการอนุรักษ์หอยมากขึ้น