ศุภโชค ธัญสิริ
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ลำพูน
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

­รับชมวิดีทัศน์ : "พลังเยาวชน คนหละปูน" ปีที่ 2


ชื่อเรื่อง หมูกระทะเป็นเหตุสังเกตได้ เรื่องกวนๆ ของบอล - ศุภโชค ธัญสิริ


แรงบันดาลใจที่อยากให้คนในชุมชนมีผักปลอดสารเคมีไว้รับประทานในครัวเรือน ทำให้เกิดโครงการ “ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง” ตำบลนครเจดีย์ อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เกิดขึ้นต่อเนื่องจาก โครงการ “ขยะเยอะแยะ แยกแยะนะจ๊ะ” ที่ บอล – ศุภโชค ธัญสิริ เป็นแม่ทัพ นำทีมเหล่านักเล่นเกมซึ่งเป็นรุ่นน้องคนสนิท บุกไปทำกิจกรรมในตลาดนัดของชุมชน จากการจัดการปัญหาขยะ มาสู่การปลูกผักที่จริงจังถึงขนาดนำไปขายเป็นรายได้เสริมเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญพวกเขามีผักปลอดสารไว้รับประทานกับหมูกระทะที่ทุกคนโปรดปราน

ชื่อโครงการทั้งสองโครงการเป็นชื่อที่แฝงความสนุกสนาน แต่แอบซ่อนความเหน็บแนมเอาไว้ ตรงกับบุคลิกของบอลที่ค่อนข้างโผงผาง พูดจาห้วนๆ ห้าวๆ นอกจากนี้ยังมีความเป็นผู้นำสูง และเพราะมีอายุมากกว่าคนอื่นในทีม บอลจึงกลายเป็นแกนนำโครงการที่น้องๆ ให้การยอมรับ

“ผมเป็นคนกวนตีนมากๆ ครับ” บอล เอ่ยขึ้นอย่างไม่อ้อมค้อม

บอลกำลังศึกษาอยู่ที่สำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ( กศน.) นครเจดีย์ ระดับชั้นมัธยมปลาย เขากล่าวถึงตัวเองอย่างไม่เขอะเขินว่า เป็นเด็กติดเกม ใจร้อน แต่ก็เป็นคนตลก ชอบสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้คนรอบข้าง


เหตุเกิดจากหมูกระทะ

โครงการขยะเยอะแยะ แยกแยะนะจ๊ะ ในปีก่อนเกิดขึ้นจากการมองเห็นปัญหาขยะล้นตลาดนัดวันอังคารของชุมชน ขยะที่ขาดการจัดการและคัดแยกอย่างเป็นระบบ บอลนำทีมเพื่อนๆ ลงพื้นที่ตลาดนัด แจกใบปลิวให้ความรู้ เกี่ยวกับการจัดการและการคัดแยกขยะให้พ่อค้าแม่ค้าและคนที่มาเดินตลาด ติดตั้งจุดทิ้งขยะเพิ่มเติมในตลาดเพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยก โครงการของพวกเขาได้รับการยอมรับ และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในชุมชน จากต้นทางในตลาดนำมาสู่โจทย์การทำโครงการในปีที่สอง ที่เชื่อมโยงกับ...พืชผักต่างๆ ที่ขายอยู่ทั่วไปและความชอบกินหมูกระทะของพวกเขา

“ล้างผักให้สะอาด เอาน้ำเกลือไปล้างด้วย เพราะในผักมีสารเคมี” คำพูดของ พี่ไก่ - นพดล เพียรพิชัย พี่เลี้ยงโครงการ ที่จุดประกายให้เกิดโครงการในปีที่สอง

บอล บอกว่า พวกเขาชอบกินหมูกระทะเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่เคยนึกถึงที่มาที่ไปของผักที่เป็นเครื่องเคียงของหมูกระทะมาก่อน เป้าหมายของโครงการผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง จึงต้องการเผยแพร่ให้คนในชุมชนตระหนักถึงพิษภัยของสารเคมีในผักที่จำหน่ายอยู่ทั่วไปในท้องตลาด และได้รู้จักผักอินทรีย์หรือผักออร์แกนิกที่บริโภคได้อย่างปลอดภัยไม่มีสารพิษจากยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมีตกค้าง

พวกเราชอบกินหมูกระทะ หมูกระทะนอกจากหมูแล้วต้องมีผัก?

ผักในตลาดไม่รู้ที่มา ไม่รู้ว่ามีสารเคมีปนเปื้อนหรือไม่?

ทำอย่างไรดีให้ได้กินหมูกระทะอย่างสบายใจ ปลอดภัยจากสารพิษ และไม่ต้องล้างผักนาน?

เป็นกระบวนการคิดที่ค่อยๆ เกิดขึ้น จนในที่สุด บอลและเพื่อนๆ จึงตัดสินใจปลูกผักด้วยตัวเอง

ก่อนทำโครงการบอลนัดรวมตัวกับน้องๆ เยาวชนในกลุ่มเพื่อปรึกษาหารือกันว่าจะปลูกอะไร อย่างไร โดยมีพี่ไก่และลุงมูล (ชาวบ้านในชุมชน) เป็นผู้ให้คำแนะนำเรื่องการปลูกผักเบื้องต้น ส่วนจะปลูกผักที่ไหน ท้ายที่สุดแล้วพี่ไก่ได้เปิดพื้นที่ของตัวเองให้กลุ่มเยาวชนลงมือทำโครงการอย่างเต็มที่ จากพื้นที่ที่เต็มไปด้วยดงกล้วย พวกเขาช่วยกันลงแรง ถางฟันต้นกล้วย เก็บเศษใบไม้ เคลียพื้นที่ เพื่อจ้างรถมาไถปรับหน้าดิน รวมทั้งเก็บเศษหินออกจากแปลง ก่อนแบ่งพื้นที่ขึ้นแปลงปลูก

“ผมก็ได้ประสบการณ์ทุกด้านเลย เช่น การใช้อุปกรณ์ การใช้จอบ การขุดดิน ขุดอย่างไรให้ถูกวิธี ขุดอย่างไรให้มือไม่เจ็บระบมเป็นแก้ว จับจอบอย่างไร การตัดเชื่อมเหล็กเพื่อนำมาปักขึ้นเป็นโครง ติดตาข่ายบังแดด การปลูกที่ต้องเว้นทางเดินระหว่างแปลง การรดน้ำพรวนดิน ใส่ปุ๋ย การเดินระบบน้ำที่เราไปอบรมมาแล้ว เราทำได้ ได้เห็นว่าทำงานเป็นทีมทำอย่างไร ได้คุมน้อง ๆ แบ่งงานแบ่งหน้าที่ ผมได้ฝึกความเป็นผู้นำไปด้วย

ผมรู้สึกว่าในเมืองน้องๆ ในกลุ่มไว้ใจให้เราเป็นผู้นำแล้ว เราได้รับความไว้ใจ เราก็ต้องทำมันให้ดี ซึ่งแต่ละคนพอมอบหมายงานให้ทำก็ทำกันอย่างเต็มที่ พวกเราวางแผนทุกขึ้นตอนไว้หมดแล้ว ลุยแล้วลงมือทำอย่างเดียวเลย น้องๆ อยู่กับผมมาก่อน ผมรู้ว่าใครถนัดด้านไหน ก็จะดูตามความเหมาะสม งานไม่หนักให้น้องคนที่ตัวเล็กทำ เช่น ตัดเชือก ส่วนน้องที่โตหน่อย จะให้มาช่วยแบกไม้”

แปลงผักของกลุ่มเยาวชน เป็นผักที่คุ้นเคยกันดีในชามหมูกระทะ ไม่ว่าจะเป็นผักกาดขาว ผักบุ้ง ผักคะน้า พริก กระเจี๊ยบ และกวางตุ้ง ซึ่งเป็นผักที่ปลูกขึ้นง่ายและดูแลง่าย เมื่อปลูกเองได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อจากตลาด

“ลุงมูลมาสอนให้ความรู้เรื่องการปลูกผักว่า ผักชนิดนี้ควรปลูกในช่วงไหน ควรดูแลรดน้ำอย่างไร เช่น ตอนขุดดินขึ้นเป็นแปลง ให้นำขี้ไก่ใส่ลงไปนิดเดียว (ย้ำว่า”นิดเดียว”) แล้วนำเมล็ดผักกาดหว่านลงแปลง รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นก็รอผักเติบโต การใส่ปุ๋ยขี้ไก่เยอะ ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ผักโตเร็วขึ้น แต่จะทำให้ดินเค็มและผักไม่โต นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากลุงมูล”

“ถ้าไม่มีโครงการผมก็ไม่คิดว่าผมจะมาปลูกผักแบบนี้ จะทำไปทำไม ทำแล้วจะมีประโยชน์อะไร ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้อยู่แล้ว”


ไม่พูดมาก ไม่คิดเยอะ ให้ผลงานพิสูจน์ฝีมือ

เมื่อได้ลงมือขุดถางแปลงปลูกและปลูกผักด้วยตัวเอง กลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้ว่า การปลูกผักในครัวเรือนไม่ใช่เรื่องยาก พวกเขาวางแผนประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องผักอินทรีย์ให้กับคนในชุมชน แต่สถานการณ์โควิด - 19 ทำให้ไม่สามารถจัดเวทีเผยแพร่ความรู้ได้ โลกโซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยส่งสารออกไปให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับรู้และทำให้คนสนใจ พี่ไก่ในฐานะพี่เลี้ยงโครงการจึงเข้ามาช่วยเผยแพร่กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ประกาศขายผักอินทรีย์ออนไลน์ ส่งฟรีถึงบ้านและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์ให้กับคนที่สนใจปลูกผักรับประทานเองที่บ้าน

“เดี๋ยวนี้ปลูกผักอยู่ไหม ปลูกอะไรบ้าง ยังขายผักอยู่ไหม ถ้าขายอยู่เดี๋ยวป้าจองเลยนะ”

เป็นหนึ่งในผลตอบรับจากคนในชุมชนที่สะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงจากการลงทุนลงแรงของพวกเขา แม้ก่อนหน้านี้ต้องเผชิญหน้าและยืดหยัดต่อคำสบประมาทจากผู้ใหญ่ในชุมชนอยู่ไม่น้อย

“มืดค่ำไม่หลับไม่นอน ออกมามั่วสุมทำอะไรกัน”

“มันจะทำได้จริงหรือ”

คำพูดที่ฟังแล้วไม่เข้าหู แต่บอลบอกว่าทุกคนมีสิทธิคิด สิ่งที่เขาทำได้ คือ การไม่นำคำพูดเหล่านั้นมาใส่สมองและไม่ใส่ใจ

“เราจะไปห้ามคนให้ไม่คิดไม่ได้หรอก อย่าไปเอามาใส่สมองเยอะ พอเราทำโครงการไป หลังๆ เขาก็มาคุยกับเราดีนะ ไม่รู้ว่าเสแสร้งหรือเปล่า แต่ผมไม่ได้คิดมากเหมือนเมื่อก่อน คิดว่าช่างเขาเถอะ ถ้าเขาสนใจจริงก็โอเค ถ้าไม่สนใจก็ช่าง แต่ในภาพรวมพอคนในชุมชนเห็นพวกเราทำโครงการจริงจัง ปลูกผักมาขายได้ ความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป มองผมในทางที่ดีขึ้น เช่น เวลาไปเจอผมที่ตลาดก็จะทัก หรือบางทีไปพัฒนาหมู่บ้านแทนแม่ เขาก็ถามว่า วันนี้มาแทนแม่เหรอ ผมว่าทัศนคติของเขาที่มีต่อผมดีขึ้น”

บอล บอกว่า เขารู้สึกดีใจมากที่ทำโครงการนี้ ได้เห็นทุกคนใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ จากเดิมเล่นเกมทั้งวี่ทั้งวันเพราะไม่มีภาระหน้าที่ แต่ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการช่วงเย็นของทุกวัน พวกเขามีหน้าที่ไปรดน้ำ พรวนดินและดูแลผักที่ปลูกไว้อย่างเต็มใจ ก่อนใช้เวลาที่เหลือไปเตะบอลออกกำลังกายเหมือนอย่างที่เคยทำ แน่นอนว่าเวลาเล่นเกมของพวกเขาลดลง แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา

“พอทำโครงการยังมีเวลาว่างนั่งเล่นเกม แต่ก็เบาลง เพราะเราเอาเวลาไปรดน้ำผักบ้าง แล้วก็มาเตะบอล ใช้เวลาที่ว่างเล่นเกมมาทำอย่างอื่นได้เยอะขึ้น เราก็ได้เห็นตัวเองด้วยว่าตัวเราทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าจะมานั่งเล่นเกมทั้งวันเหมือนเมื่อก่อน”

“การปลูกผักต้องดูแลเอาใจใส่ ต้องรับผิดชอบมันไม่ใช่หน้าที่ที่เราต้องทำ แต่มันคือความสุขและความสนุก เวลาที่ได้รดน้ำในแปลงผักของตัวเอง บางวันพี่ไก่ชวนกินหมูกระทะ เราก็ไปเก็บผักที่ปลูกเองมากิน เรามั่นใจได้ว่าผักพวกนี้ปลอดสารเคมีแน่นอน เพียงแค่ล้างเอาดินออก ล้างให้สะอาดอีกรอบ บางครั้งมีผลผลิตเยอะเราก็ยังได้นำไปแจกและวางขายให้กับคนในชุมชน”


มั่นใจในตัวเอง แต่ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

กว่าจะมาเป็นบอลที่มีภาวะความเป็นผู้นำและเข้าใจผู้อื่นอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ บอล บอกว่า เขาผ่านการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนตัวเองมาพอสมควร แม้ร่วมหัวจมท้ายกับน้องๆ ในทีมทุกขั้นตอน แต่ก่อนนี้เขาทำงานแบบจัดแจงและออกคำสั่งให้น้องๆ ทำมากกว่ารับฟัง แต่เมื่อเปลี่ยนมาทำงานเป็นทีม และรับฟังความเห็น บอล พบว่า การทำงานต่างๆ ง่ายขึ้น ทุกคนมีความสำคัญและมีส่วนทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้

“บางทีผมพูดอะไรสักเรื่อง ในขณะที่พูดอยู่น้องไม่ฟัง มัวแต่คุยเรื่องอื่น ทั้งที่เราอยากให้เรื่องตรงนี้เสร็จไปก่อน ผมก็ตวาด ทำไมน้องไม่ฟัง พี่ก็พูดอยู่เนี่ย! พวกน้องมาคุยอะไรกันก็ไม่รู้”

“ผมเป็นคิดเร็วด้วย ผมจะแสดงความคิดเห็นออกไปเลย น้อง ๆ จะบอกว่า ดี ๆ แต่ตอนนี้ทุกคนกล้าออกความคิดเห็น เสริมขึ้นมาว่าทำแบบนี้ด้วยดีไหม ผมรับฟัง แล้วเอามาปรับใช้ร่วมกัน พอมันออกมาดี ผมก็โอเค น้องก็มีความสุขที่ได้ออกความคิดเห็น มีบางเรื่องที่ยากลองใจน้องๆ ว่าคิดอะไรกันอยู่ หลังๆ ผมเสนอให้น้อง ๆ ลองคิดหัวข้อนี้สิ เราจะทำอย่างไรดี เหมือนทำแบบทดสอบให้น้องๆ ออกแบบกันออกมา พอโอเคแล้วก็ลุยเลย”

แม้รับบทบาทเป็นผู้นำกลุ่ม แต่บอลบอกว่า เขาไม่ใช่หัวหน้าทีมในการทำโครงการ ทุกคนล้วนเป็นหัวหน้าได้ทั้งหมด

“ผมโตที่สุดในกลุ่ม น้องๆ จึงให้ผมเป็นหัวหน้าทีม บางเรื่องผมก็ให้ทิวนำ อย่างเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ บางเรื่องที่น้องถนัดกว่าเราก็ให้เขานำ เพราะเราต้องพึ่งเขา ผมไม่เคยแทนตัวเองว่าหัวหน้าสักครั้ง ผมจะคอยนำมากกว่า แต่ถ้าให้ผมทำอะไรก็พร้อมทำให้ทุกอย่าง ในโครงการแรกผมอาจจะไม่ใช่ผู้นำที่ดี หัวร้อนไปบ้าง ใช้คำพูดที่รุนแรงจนทำให้น้องบางคนน้อยใจและร้องไห้ก็มี เช่น ขณะที่ทำโครงการ มีน้องคนหนึ่งแสดงความคิดเห็น แล้วผมก็โผล่งออกมาว่า “มึงบ้ารึเปล่า จะทำแบบนั้นได้ยังไง” จากนั้นมันก็ทำให้ผมรู้สึกแย่ เพราะผมคาดหวังเยอะเกินไป บางครั้งก็ลืมไปว่าน้องๆ ยังเด็กอยู่ ผมเลยคิดใหม่ทำใหม่ในโครงการที่สอง ฟังน้องๆ มากขึ้นทุกอย่างก็ดีขึ้น”

“ร้านขายผัก” หรือ “สโตร์ผัก” เป็นความฝันที่บอลอยากทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นทางเลือกสร้างอาชีพให้กับตัวเองและเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพของคนในชุมชน

“พอทำทุกอย่างเสร็จด้วยตัวเองแล้วโล่งไปหมด เมื่อมายืนอยู่หน้าแปลงเราเห็นภาพรวมทั้งหมด มันโคตรใหญ่เลย นี่เรากับน้อง ๆ ทำเหรอ มันรู้สึกภูมิใจในตัวเอง เราทำได้นะ ไม่ใช่แค่ให้ผู้ใหญ่มาพูดมาบอก เราก็ทำได้ น้อง ๆ ก็ทำได้ พอร่วมมือกันก็ทำได้ อยากให้มีผู้สนับสนุนงบประมาณและพื้นที่ ผมอยากขยายที่ทำเล้าไก่ให้อยู่ใกล้แปลงผัก ผมจะได้เอาขี้ไก่มาทำปุ๋ย ต่อยอดกันไปและอยากโชว์ศักยภาพว่าเราก็มีดีเหมือนกันนะ ไม่ได้มามั่วสุมเล่นเกมกันทั้งวัน”

“โครงการนี้ทำให้ผมได้พัฒนาตัวเอง ไม่ต้องมองสิ่งต่างๆ ในแง่ลบเสมอไปก็ได้ ไม่ต้องไปมีทิฐิกับมันมาก บางเรื่องเราปล่อย ไม่ต้องคิดเยอะ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจเลย เราสนใจตัวเอง สนใจครอบครัว สนใจเพื่อนพี่น้องเรา สนใจคนในชุมชน เราก็ทำในส่วนของเราให้มันดี แต่ไม่ต้องทำวันนี้ให้ดีที่สุดนะ เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีอะไรทำ” บอล กล่าวทิ้งท้าย

////////////////////////////