สาวินี แซ่ว้าน
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตาก
ตำแหน่งที่ได้รับในโครงการต่างๆ
ประวัติและผลงาน

ความโดดเด่น :

  • ฉูเป็นคนที่มีบุคลิกภาพและนิสัยดี มีความสดใส มีพลังและมองโลกในแง่ดี ทำให้เขาใช้พลังงานด้านบวกในการขับเคลื่อนการทำกิจกรรมและชีวิต
  • ช่างสังเกต พร้อมเรียนรู้
  • การวาดภาพและงานศิลปะ ฉูใช้ความโดดเด่นนี้ในการผลิตหนังสือนิทานทำให้ทุกคนประทับใจ

­       ฉู สาวินี แซ่ว้าน เด็กสาวชาวม้งที่มีแววตาเปี่ยมพลัง ฉู สดใส ร่าเริง สามารถพูดและฟังภาษาม้งได้ เธออยากเรียนรู้อักษรม้งในอนาคต ฉูศึกษาที่โรงเรียนป่าไม้อุทิศ 4 ด้วยโรงเรียนไกลบ้าน เธอจึงอยู่ประจำที่โรงเรียนและกลับบ้านในช่วงเสาร์ อาทิตย์ ฉูเป็นน้องสาวของพี่โมและพี่ไม้ นักศึกษาวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย (หัวหน้าโครงการ) เริ่มต้นมาจากพี่สาวชวนให้เธอทำโครงการนิทานพื้นบ้านม้งด้วยกัน ฉูสนใจ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบทำงานศิลปะ เมื่อรู้ว่าหลังจากเก็บข้อมูลนิทานพื้นบ้านแล้ว ต้องผลิตสื่อเพื่อนำไปเล่าให้น้องๆ ในชุมชนฟัง ฉูตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ ทันที เดิมทีฉูยังไม่ค้นพบว่าตัวเองชอบอะไร เธอเริ่มกังวลว่าจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วจะเรียนต่ออะไรดี เธอคิดว่าเธอไม่น่าจะชอบเด็กๆ

      บ้านป่าหวายที่ฉูอาศัยอยู่ เป็นหมู่บ้านที่เรียบง่าย มีถ้ำและน้ำตกสวยงาม ผู้สูงอายุกับคนหนุ่มสาวไม่ค่อยสนทนากันนัก ฉูเมื่อกลับบ้านก็คุยแต่กับญาติมิตร ไม่ค่อยได้พูดคุยกับใคร บ้านป่าหวายมีโรงเรียนที่มีชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ระหว่างการทำโครงการฉูรับหน้าที่ประสานงาน นัดหมายผู้ใหญ่บ้าน สถานที่ประชุม นัดหมายปราชญ์ผู้รู้ และบันทึกนิทาน ฉูและทีมเก็บข้อมูลนิทานจากพ่อของฉู ลุง ปู่ และปราชญ์ผู้รู้ในชุมชนอีก 3 ท่าน ฉูเล่าว่าชาวม้งในชุมชนเป็นเครือญาติกัน เธอและทีมเก็บข้อมูลนิทานพื้นบ้านม้งมาได้ 20 เรื่องและนำมาผลิตสื่อ 5 เรื่อง คนในชุมชนสนับสนุนและชื่นชมสิ่งที่เยาวชนทำโครงการฯ เพราะไม่เคยมีใครทำมาก่อน

       ฉูประทับใจในนิทานพื้นบ้านม้ง เธอบอกเหตุผลของการเลือก 5 เรื่องที่นำมาผลิตสื่อว่า “หนูและเพื่อนเลือก 5 เรื่องนี้ เพราะสังเกตจากสีหน้าของเด็กเวลาที่ฟังผู้ใหญ่เล่า เขาจะตื่นเต้นไปด้วย หนูก็เลยเอามาทำหนังสือนิทาน นิทานม้งมีความตลก เด็กจึงชอบ” 5 เรื่องที่นำมามีเรื่อง มีเรื่องสื่อกั๋ง (1ใน 5 ของผีบ้านผีเรือนที่ชาวม้งมีความเชื่อว่าคุ้มครองบ้าน) เรื่องปั๊วที่เป็นเรื่องของค้างคาวประวัติของค้างคาว เรื่องความเป็นมาว่าทำไมคนถึงเป็นแบบนี้ เรื่องป่อกือฮาบเล่ เป็นเรื่องต้นข้าวกับข้าวโพด อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องเสือกับควายป่า โครงการฯ ทำให้ฉูได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของชาวม้ง เข้าในเรื่องสิ่งที่ชาวม้งนับถือ และใกล้ชิดปู่มากขึ้นผ่านนิทานพื้นบ้าน จากเดิมที่ไม่ค่อยได้คุยกับปู่ ฉูค้นพบว่าปู่รักและเอ็นดูฉูมาก

       เมื่อผลิตสื่อนิทานทั้ง 5 เรื่องเสร็จเรียบร้อย ทีมงานนำนิทานไปเล่าและทำกิจกรรมกับเด็กประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 30 คนในชุมชน เด็กๆ สนใจให้ความร่วมมือ ตื่นเต้นกับภาพและเรื่องเล่า ฉูจำความประทับใจที่ทรงพลังนั้นได้ดี ในขณะที่เธอกำลังจะเล่านิทาน เธอถือหนังสือที่ผลิตเองในมือด้วยความตื่นเต้น พอเธอเปิดหน้าแรก เด็กๆ ทุกคนร้อง ว๊าว… เธอตื่นเต้น ภูมิใจ และเล่านิทานด้วยความตั้งใจ เธอรู้สึกว่าพลังของนิทานที่ปู่เล่าช่างมหัศจรรย์ ปู่ถ่ายทอดและทำให้เธอประทับใจ เธอได้นำนิทานมาผลิตเป็นหนังสือและถ่ายทอดความมหัศจรรย์นี้สู่เด็กๆ นาทีนั้นฉูค้นพบตัวเองว่าตัวเองชอบและอยากทำอะไร “หนูชอบเด็ก หนูชอบที่จะสอนเด็กค่ะ กิจกรรมในโครงการฯ ทำให้หนูได้เห็นอนาคตของหนูว่าหนูอยากเป็นครู หนูอยากจะทำแบบนี้บ่อยๆ ” ฉูเล่าด้วยความมุ่งมั่น เธอดีใจที่ได้ค้นพบความชอบของตัวเอง ตั้งแต่วันนั้น ฉูและเพื่อนเป็นคนดังของชุมชน ไปซื้อของที่ร้านค้า เด็กๆ ต่างร้องเรียกทักทาย เธอสัญญากับเด็ก ๆ ว่าเสร็จโครงการจะนำนิทานมามอบไว้ให้ที่โรงเรียนเพื่อให้เด็กๆ ได้อ่านต่อไป

       การแบ่งเวลาทำงานโครงการ ฯ หลายครั้งที่วันทำกิจกรรมไม่ตรงกัน ฉูใช้วิธีดูตารางเรียนหากวันไหนไม่มีเรียนวิชาที่ยาก เธอจะขอลาหยุดเพื่อไปทำกิจกรรมและกลับมาตามจากเพื่อนๆ ฉูคิดว่าดีกว่าให้พี่สาวที่เรียนในระดับมหาวิทยาลัยขาดเรียนยากกว่า ฉูชื่นชมเพื่อนๆ ในทีมทั้ง ซัว เซา วิทย์ ว่าทุกคนสนับสนุนกันและมีความสามารถที่แตกต่างกัน โครงการฯ ทำให้เธอสนิท และรู้จักเพื่อนมากขึ้น การที่ ฉู ได้มาทำกิจกรรมที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ทำให้มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เธอรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่มีคนรับฟังกันจริงๆ ทำให้ฉูกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นและเป็นตัวของตัวเอง