ประวัติและผลงาน

โครงการการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล


ชื่อเรื่อง : “ปันจักสีลัต” ศิลปะการป้องกันตัวบนโลกโซเชียล

เยาวชนเด่น: นายวาซิม ติงหวัง


เสียงปี่ซูนาดังบอกท่วงทำนองการแสดง ตามด้วยกลอง ฆ้อง ดังรับเป็นจังหวะ นักสีละ ค่อยๆ วาดลวดลายร่ายรำ รับกับทำนองเสียงดนตรีเป็นศิลปะที่ถูกเรียกว่า “ปันจักสีลัต” ประหนึ่งเป็นการลองเชิงคู่ต่อสู้ ต่างฝ่ายต่างใช้มือฟาดฟัน ใช้เท้าดันร่างกายฝ่ายตรงข้าม ดนตรีค่อย ๆ โหมจังหวะเร็วขึ้น พาให้คนดูระทึกใจไปกับการวาดลวดลาย หลังจบการแสดงเสียงปรบมือดังก้องภายในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลละงู จังหวัดสตูล

วาซิม ติงหวัง ตัวแทนเยาวชนโครงการการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัต ชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล พาย้อนกลับไปอยู่ในบรรยากาศของการแสดงศิลปะปันจักสีลัต ที่เขาและเพื่อนร่วมกันออกงานเป็นครั้งแรก

“ปันจักสีลัต” ศิลปะพื้นบ้านที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่วงท่าลีลาผสานความเข้มแข็งและความอ่อนช้อยงดงามนั้นเข้ากันอย่างลงตัว “ปันจัก” หมายถึง การป้องกันตนเอง “สีลัต” หมายถึง ศิลปะ เมื่อสองคำนี้มารวมกันจึงรวมความได้เป็น “ศิลปะแห่งการป้องกันตัวเอง”

ปันจักสีลัตเป็นกีฬาประจำชาติอินโดนีเซีย แต่น้อยคนที่รู้ว่าในอดีตนั้นสีลัตเป็นทั้งศิลปะการต่อสู้ เป็นภูมิปัญญาศิลปะการร่ายรำเพื่อบำบัดรักษาความเจ็บป่วย เป็นกีฬาพื้นบ้านของคนรุ่นปู่ย่าตายายเหมือนกับคนไทยเล่นมวยไทย และเป็นศิลปะการร่ายรำที่ใช้ในการแสดงต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองคนสำคัญ


เส้นทางเยาวชนพลเมือง

วาซิมเล่าย้อนถึงเส้นทางเข้าสู่เส้นทางเยาวชนพลเมืองจังหวัดสตูลว่า เขาอาศัยอยู่ในชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา เคยทำ โครงการศึกษารวบรวมข้อมูลผักพื้นบ้าน เพื่อการฟื้นฟูโดยการหาวิธีการปลูกในรูปแบบใหม่ของชุมชนมาก่อน เดิมใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนไปกับการขายของออนไลน์ เพื่อหารายได้ให้กับตัวเอง

วันหนึ่งถูกชักชวนจากญาติซึ่งเป็นพี่เลี้ยงโครงการให้มาเข้าร่วมกิจกรรม ในช่วงแรก เขายอมรับว่ามาแบบงง ๆ จากที่คิดติดสอยห้อยตามมาเป็นเพื่อนแค่ครั้งเดียว แต่มารู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของโครงการไปแล้ว

“ตอนแรกงงว่าเขาให้มาทำอะไร แต่พอได้มาเข้าร่วมกิจกรรมบ่อย ๆ ทำให้เข้าใจว่าเขาชวนเรามาทำโครงการเกี่ยวกับฐานวิจัย เป็นการทำงานเพื่อชุมชนที่เราอยู่ ด้วยการเลือกโจทย์โครงการจากปัญหา หรือจุดเด่นที่ชุมชนเรามี” วาซิม กล่าว

แม้ชอบเป็นพ่อค้าออนไลน์ แต่ลึก ๆ กลับเป็นคนที่ชอบอยู่คนเดียว ไม่ชอบสุงสิงกับใคร แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการจึงต้องปรับตัวใหม่ เพื่อจัดสรรเวลามาทำงานร่วมกับเพื่อนคนอื่นๆ เพราะการทำงานคนเดียวไม่ใช่เป้าหมายของการโครงการนี้ นั่นทำให้วาซิมต้องกล้าเข้าหาเพื่อนมากขึ้น สิ้นสุดโครงการในครั้งแรก เขาค้นพบว่าตัวเองกล้าพูดมากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนหน้าที่เป็นคนเงียบๆ ไม่ช่างพูดช่างเจรจากับใคร

หากนึกย้อนไปส่วนหนึ่งที่ทำให้วาซิมเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เป็นเพราะผลของการทำกิจกรรมในโครงการที่เปิดโอกาสให้ทุกคนฝึกพูด ให้ทุกคนจับไมค์นำเสนอโครงการ กล้านำเสนองานที่ทำ จนค่อยๆ พัฒนาตัวเอง ให้กลายเป็นคนกล้าพูด ที่สำคัญทำให้ค้นพบความสามารถของตนเองด้านทักษะการสื่อสาร การถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ

เมื่อตอบรับทำโครงการต่อในปีที่สองวาซิมได้รับโอกาสจากพี่เลี้ยงโครงการอย่าง บังเชษฐ์ - พิเชษฐ์ เบญจมาศ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายเยาวชนในชุมชนบ้านทุ่งพัฒนา ร่วมงานกับเพื่อนๆ เครือข่ายเยาวชนชุมชนบ้านทุ่งที่เคยทำโครงการเกี่ยวกับปันจักสีลัตมาแล้วก่อนหน้านี้

วาซิมมองว่าการทำโครงการเป็นโอกาสดีและเป็นประสบการณ์ที่ดี เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความกล้าแสดงออก กล้าพูดและกล้าทำเรื่องที่ไม่เคยทำ ปีนี้วาซิมไม่ได้ทำโครงการที่หมู่บ้านของตัวเองด้วยปัจจัยเรื่องการรวมกลุ่ม แต่การทำกับหมู่บ้านใกล้เคียงก็ไม่ใช่อุปสรรคเพราะชุมชนทั้งสองพื้นที่เคยเป็นหมู่บ้านเดียวกันมาก่อน


ปันจักสีลัต...season2

โครงการการเรียนรู้วัฒนธรรมปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่ง ในรูปแบบสื่อโซเชียล มีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลที่รวบรวมได้ในปีที่หนึ่งมาเผยแพร่ทางสื่อโซเซียล ผ่านแฟนเพจ และช่องยูทูป นอกจากนี้ เยาวชนในโครงการยังรับงานนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน หรืองานอีเว้นท์ที่ได้รับเชิญ มีทั้งที่มีรายได้และเป็นงานอาสา เพื่อร่ายรำเผยแพร่ปันจักสีลัตของชุมชนบ้านทุ่งให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

“เทศกาลยอนหอยหลอด” งานประจำปีขององค์การบริหารส่วนตำบลละงูเป็นงานแรกที่กลุ่มเยาวชนคนรักปันจักสีลัต เข้าร่วมประกวดในประเภทกลุ่มวัฒนธรรม มีทีมเข้าร่วมกว่า 12 ทีมในกลุ่มนี้ โดยได้รับการช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงช่วยติดต่อประสานงาน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ วาซิมบอกว่า งานนี้เป็นงานแรกที่ได้เข้าประกวดแบบจริงจัง อีกทั้งยังต้องแข่งกับคนอื่น มีทั้งเด็กและกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มากกว่ากลุ่มเยาวชน ทำให้รู้สึกค่อนข้างตื่นเต้น ในงานครั้งนั้นวาซิมรับหน้าที่เป็นคนบอกเล่าประวัติความเป็นมาของปันจักสีลัตแก่ผู้ร่วมงาน ก่อนเข้าสู่การแสดง

ความประหม่ามาเยือนเมื่อได้เอ่ยปากทำหน้าที่บนเวทีเเรก

“ก่อนวันงานประมาณ 2-3 วัน ทีมงานให้ข้อมูลมาซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติของปันจักสีลัต ตอนซ้อมมั่นใจว่าจำได้หมด ถึงวันจริงพอขึ้นเวที มองเห็นผู้ชมที่เขากำลังรอฟังด้านหน้าเวที แล้วรู้สึกตื่นเต้นมาก ทำให้ลืมข้อมูลไปบ้างแต่ก็แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าไปได้ด้วยดี” วาซิมยังบอกต่ออีกว่าการลองสนามออกงานในครั้งนั้น ช่วยลบความตื่นเต้น และความกลัวที่สะสมอยู่ในตัวออกไปได้สำเร็จ ทำให้เขาเห็นจุดบกพร่องของตัวเองเพื่อนำไปแก้ไขในโอกาสต่อไป ผลลัพธ์หลังออกงานยอนหอยหลอดทำให้ปันจักสีลัตชุมชนบ้านทุ่งเป็นรู้จักมากขึ้น

วาซิมได้มีโอกาสออกงานอีกครั้งในงานเครือข่ายวรรณกรรมคู่สังคม จากการสนับสนุนของบังเชษฐ์ งานนี้วาซิมรับหน้าที่ดูแลเพจของทางเครือข่ายฯ และไม่ลืมทำหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คอยเก็บภาพบรรยากาศการฝึกซ้อมเพื่อลงเพจอยู่เสมอ

"บ้านที่จัดงานแต่งอยู่ใกล้กับบ้านของผู้รู้ ที่สอนปันจักสีลัตให้กับพวกเรา เขาเห็นพวกเรามาซ้อมกับผู้รู้ทุกวัน ก่อนวันงานเลยมาคุยกับทางพี่เลี้ยงและผู้รู้ ขอให้พวกเราไปทำการแสดงในวันงาน" วาซิม เล่า

เมื่อถึงวันงาน สมาชิกร่วมกันวางแผนแบ่งเป็นคู่เยาวชนหนึ่งคู่และคู่ผู้ใหญ่หนึ่งคู่เพื่อทำการแสดง สาธิตวิธีการร่ายรำในแบบฉบับปันจักสีลัตต่อหน้าแขกผู้มาร่วมงานที่มายินดีกับบ่าวสาวประมาณร้อยกว่าคน วาซิม บอกว่า พวกเขารู้สึกปลื้มใจที่คนในงานให้ความสนใจค่อนข้างมาก เขาเห็นภาพเหล่านั้นอย่างชัดเจน เพราะทำหน้าที่ถ่ายวิดีโอ บันทึกภาพบรรยากาศการแสดงและสีหน้าของผู้ชม เพื่อนำไปใช้ตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอลงยูทูป เผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับรู้อีกหนึ่งช่องทาง


ปันจักสีลัตกับโลกออนไลน์

โลกยุคปัจจุบัน สติของคนเล่นมือถือส่วนมากให้ความสนใจโซเชียลมีเดีย จากสถิติพบว่าเฟสบุ๊คเข้าถึงคนไทยถึง 47 ล้านคน รองลงมาคือยูทูปที่ได้รับการนิยมจากกลุ่มวัยรุ่นเป็นอย่างมาก วาซิมเป็นหนึ่งในนั้นที่ชอบดูคลิปวิดีโอต่างๆ บนยูทูป และเลื่อนหน้าจอไปมาอยู่บนเฟสบุ๊ค เหตุผลอีกอย่างเพราะต้องใช้ช่องทางเหล่านี้เปิดหน้าร้านขายของออนไลน์ของตนเอง ด้วยเหตุนี้ วาซิมจึงเลือกใช้สิ่งที่ถนัดมาสนับสนุนการทำโครงการฯ ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปันจักสีลัตทั้งหมดบนโลกออนไลน์

ทีมงานตกลงใช้ชื่อเพจ “รวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัต” เผยแพร่ข้อมูลของโครงการ นำเสนอเนื้อหาความเคลื่อนไหว หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องตามงานต่างๆ ที่ได้เข้าร่วม

“ผมออกแบบโลโก้เพจ วางรูปแบบการนำเสนอของเพจเป็นการนำเสนอข้อมูลของปันจักสีลัตทั้งหมด ตั้งแต่ประวัติความเป็นมา กิจกรรมแต่ละกิจกรรมของทีม การซ้อม เวลามาประชุมวางแผนการทำงาน ทั้งภาพถ่ายและวิดีโอ เรียกว่าลงความเคลื่อนไหวทุกอย่างที่พวกเราทำ“ วาซิมเล่าถึงแผนการทำงาน

ส่วนช่องยูทูปเป็นอีกช่องทางที่ทำให้คนภายนอกเข้าถึงปัจจักสีลัตบ้านทุ่งได้ เป็นที่มาให้เกิดช่อง “รวมพลเยาวชนคนรักปันจักสีลัตชาแนล” ซึ่งวาซิมอาศัยประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายวิดีโอ และการตัดต่อจากการอบรมในโครงการ และประสบการณ์จากการทดลองตัดต่อวิดีโอมาแล้วในปีที่หนึ่ง ทำให้พอมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคนิคการตัดต่อวิดีโออยู่บ้าง ครั้งนั้นข้อมูลที่สื่อสารออกไปเป็นคลิปนำเสนอโครงการ ส่วนครั้งนี้คลิปแรกที่เลือก ลงในช่องยูทูปเป็นคลิปที่กลุ่มเยาวชนได้ร่วมแสดงในงานแต่งงาน ซึ่งได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

“ผมถ่ายบรรยากาศการแสดงของเพื่อนแล้วนำมาตัดต่อเป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ ใส่โลโก้ของทีมเข้าไปในคลิปด้วย” วาซิม กล่าว

มีคนดูเข้ามาชมคลิปเกินคาดกว่า 400 ครั้ง วาซิมบอกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย เขาวิเคราะห์สาเหตุว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้มีคนเข้ามาดูเยอะ เป็นเพราะเพื่อนสมาชิกในโครงการช่วยกันแชร์คลิปลงหน้าเฟสบุ๊คของตัวเอง สถิติที่เกิดขึ้นเป็นผลงานที่น่าพอใจและเป็นแรงผลักดันให้เขาทำผลงานชิ้นอื่นๆ ต่อไป ยกตัวอย่างเช่น คลิปประมวลภาพกิจกรรมในโครงการตั้งแต่เริ่มจนจบ ที่วาซิมค่อยๆ ร้อยเรียงวิดีโอที่บันทึกไว้ผ่านสายตาของเขา บอกเล่าเรื่องราวให้ผู้ชมได้รับความสนุกสนานและเพลิดเพลินไปพร้อมๆ กัน


ทำแล้วต้องไปให้สุด

เนื้อหาส่วนใหญ่ของการทำโครงการในปีที่สอง เน้นการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเซียล ทำให้งานหลัก ตกมาอยู่ในมือวาซิม ปีนี้เขาจึงไม่ค่อยได้ซ้อมปันจักสีลัตเหมือนคนอื่นๆ แต่เขาทำหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง และเป็นคนเล่าประวัติปันจักสีลัตบนเวทีอยู่บ่อยครั้ง วาซิมจึงเป็นคนหนึ่งที่ได้ซึมซับและรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับปันจักสีลัต จนเรียกได้ว่าเป็นฐานข้อมูลของกลุ่ม

เมื่อถามถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง วาซิมยังคงยืนยันคำเดิมว่า โครงการนี้ช่วยให้เขากล้าออกจากพื้นที่เดิม ๆ จากที่เคยชอบอยู่คนเดียว ทำงานคนเดียว โครงการช่วยพาเขาออกไปเจอกับผู้คน ได้ลองใช้ชีวิตอยู่กับคนอื่นๆ สร้างสมดุลระหว่างการให้เวลากับตัวเองและคนรอบข้าง

“สิ่งที่ผมได้จากโครงการนี้ค่อนข้างเยอะพอสมควร คือทักษะการพูด การนำเสนอโครงการ ผมได้รับหน้าที่พิธีกรในช่วงการนำเสนอโครงการในงานมหกรรมพลังเยาวชนจังหวัดสตูล ตอนแรกกลัวว่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้ลองทำก็ผ่านมาได้ เป็นเพราะมีคนคอยสนับสนุนเราอยู่ข้าง ๆ ให้โอกาสเราขึ้นพูดตามเวทีต่างๆ คอยให้คำแนะนำเกี่ยวกับเทคนิคการพูด หรือเวลาต้องการคำปรึกษา พี่ ๆ ยินดีเข้ามาช่วยทันที เลยไม่รู้สึกหรือประหม่าว่าสิ่งที่พูดออกไปจะถูกหรือผิด”

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการใช้ชีวิตของวาซิม คือ การปรับตัวเข้ากับสังคม วาซิมนำสิ่งที่ตัวเองรักทั้งสองอย่างมาผสมผสานเข้าด้วยกัน นำเทคนิคจากโลกออนไลน์มาปรับใช้กับตัวโครงการจนทำให้ปันจักสีลัตบ้านทุ่งเป็นที่รู้จักของคนทั้งในและนอกพื้นที่ นำสิ่งที่ได้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำ เช่น เทคนิคการนำเสนอโครงการไปปรับใช้กับการนำเสนองานในชั้นเรียนจนกลายเป็นที่ยอมรับของเพื่อนในชั้นเรียนและครูทั้งโรงเรียนอีกด้วย …