ศุภชัย เสมาคีรีกุล
แกนนำเยาวชน Active Citizen จ.ตาก
ประวัติและผลงาน

นายศุภชัย เสมาคีรีกุล (บี้)

ปัจจุบัน :  ทำไร่หมุนเวียน

ความโดดเด่น/ความสามารถพิเศษ : 

  • การเป็นผู้นำที่ดี รับความความคิดเห็นของทุกคน ยอมรับความแตกต่างหลายหลาย เปิดพื้นที่ให้ทุก
  • คนได้แสดงความคิดเห็น ร่วมงานกับทุกคนได้ดี
  • มีหัวใจแห่งประชาธิปไตย ให้เกียรติ เคารพความเป็นมนุษย์ เชื่อในสิทธิเสรีภาพ สนับสนุนและ
  • ออกแบบกิจกรรมให้หญิงชายเท่าเทียมกัน
  • รักบ้านเกิด รักชุมชน รักเพื่อนมนุษย์ อยากปกป้องและดูแลบ้านเกิดให้ทุกคนมีสิทธิในทำกิน

­     บี้ ศุภชัย เสมาคีรีกุล จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และตัดสินใจไม่เรียนต่อ เพราะไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร แต่บี้สนใจการปลูกไร่หมุนเวียนตามแบบคนปกาเกอะญอซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของครอบครัว เขาเริ่มต้นสนใจเรื่องสิทธิเพราะร่วมค่ายกับชมรมของมหาวิทยาลัยที่เชียงใหม่ เกี่ยวกับกะเหรี่ยงและสิทธิของกะเหรี่ยง ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีข่าวปู่คออี้ทุกวันนี้ เขาติดตามและรู้สึกว่ากลุ่มชนเผ่าถูกมองข้าม ถูกเอาเปรียบ เจ้าหน้าที่ของรัฐชอบใช้อำนาจ ทำให้เขาอยากรู้ถึงสิทธิและการดูแลชุมชน เมื่อมีงานประชุม บี้จึงเข้าร่วมเป็นประจำ จนกระทั่งวันหนึ่ง ในที่ประชุมมีรุ่นพี่มาบอกเขาว่าไม่รู้ว่ากรมป่าไม้ จะประกาศเขตอุทยานทับหมู่บ้านที่เขาอาศัยหรือเปล่า ให้บี้และคนในชุมชนสำรวจขอบเขตหมู่บ้าน บี้กลับไปที่หมู่บ้าน และทำการเดินขอบเขตหมู่บ้านด้วย GPS นับเป็นครั้งแรกที่บี้ทำงานให้ชุมชน เขาประทับใจที่ทุกครอบครัวให้ความร่วมมือสมทบข้าวสารและเงินครอบครัวละ 100 – 200 บาท บี้เดินสำรวจกับผู้ใหญ่ที่รู้พิกัดในชุมชน และต้องค้างคืนในป่าระหว่างทาง

บี้เป็นหัวหน้าโครงการครั้งแรก ทำงานร่วมกับเพื่อน 6 หมู่บ้าน ทำหน้าที่นัดประชุม วางแผน เก็บข้อมูล ออกแบบกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ บี้เป็นคนเคารพสิทธิของทุกคน เป็นผู้นำที่รับฟังและเปิดใจ เคารพในความหลาหลาย ยอมรับในความคิดเห็นและมุมมองที่ต่างออกไป “โครงการฯ ทำให้ผมยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นดีขึ้น เมื่อก่อนสมมติว่าเราเสนอความคิดเห็นปุ๊บ ถ้าคนไม่เห็นด้วยกับเรา จะรู้สึกน้อยใจ ผิดหวัง แต่ตอนนี้ยิ่งคนไม่เห็นด้วยยิ่งดี จะได้แลกเปลี่ยนกัน” บี้เติบโตขึ้น มีเหตุผล “ผมเสนอ เขาเสนอ พอมันไม่เหมือนกัน เราก็ชั่งน้ำหนักว่าความเป็นไปได้ของใครมีมากกว่ากัน ยอมรับกันเป้าหมายสำคัญกว่า เหตุผลของคนเสนอคนไหนมีมากพอ เพียงพอให้ทุกคนยอมรับได้ เราเอาของคนนั้นเลย ไม่จำเป็นต้องเอาของหัวหน้า หรือ รองหัวหน้า” หัวใจแห่งความเป็นประชาธิปไตยในตัวบี้มีเต็มเปี่ยม เขาเคารพและให้เกียรติทุกคนจนเป็นที่รักของน้องและเพื่อนในทีม “ผมรู้สึกว่า คนทุกคนไม่มีใครเก่งกว่าใคร ไม่จำเป็นว่ารุ่นน้องต้องตามรุ่นพี่เสมอไป มันไม่จำเป็น ผมรู้สึกแบบนั้น ผมรู้สึกว่าจะมีใครรู้ไปเสียทุกเรื่อง ที่น้องรู้ พี่อาจจะไม่รู้ก็ได้” ด้วยพื้นที่การทำงานที่เปิดกว้างและปลอดภัยให้ทุกคนได้เป็นตัวเอง กิจกรรมกีฬาพื้นบ้านที่เชื่อมร้อยเครือข่ายจึงเต็มไปด้วยพลัง มิตรภาพ รอยยิ้มและการเคารพกันและกัน หญิงชายเล่นกีฬาร่วมกันได้ ไม่ได้แข่งกีฬา แต่เล่นกีฬาเพื่อผสานความสัมพันธ์

อุปสรรคในใจบี้ก็คือเวลาที่เขาทุ่มเทในโครงการ เขารู้สึกว่าเขาช่วยเหลืองานที่บ้านไม่เต็มที่ บี้รักแม่ อยากให้แม่และครอบครัวสบาย การที่ทำกิจกรรมทำให้การทำไร่หมุนเวียนของครอบครัวขาดกำลังหลักคือตัวเขาไป ทำให้เขาท้อและอยากเลิกราหลายครั้ง แต่เมื่อมองกลับไปเห็นเพื่อน พี่ น้อง ให้กำลังใจเขาก็มีพลังอีกครั้ง เขารู้ว่าการทำกิจกรรมตรงนี้ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่มีความหมายถึงชุมชนด้วย การสร้างเครือข่ายของคนรุ่นใหม่จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับภาครัฐ เสมือนเป็นตัวแทนของพี่น้องชาวบ้านที่จะสื่อสารความคิด ความจริง การเป็นอยู่ ของชุมชน

บี้พยายามฝึกฝนการอยู่กับปัจจุบัน มีสมาธิในช่วงเวลานั้นๆ ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง จะได้สบายใจและผ่อนคลายมากขึ้น โครงการฯ ทำให้บี้ทำงานเป็นระบบขึ้น มีการวางแผนในระยะยาว ได้ลองทำงานในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เช่นออกแบบกิจกรรม หรือสืบค้นข้อมูลชุมชน เขาอยากพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น ทุกครั้งที่มีโอกาสที่จะได้เรียนรู้